วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อาสาพัฒนา "วัดภูเขาทอง"

วัดภูเขาทอง ที่มีเจดีย์ภูเขาทอง เจดีย์พี่เจดีย์น้องกับพระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ชัยมงคล  ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากจะกล่าวถึงเรื่องของเจดีย์แล้ว ก็มีที่ขึ้นชื่อเรื่องความสูงใหญ่และมีประวัติศาสตร์สำคัญอยู่ ๒ เจดีย์ดังกล่าว โดยเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนั้นสูงเป็นอันดับ ๑ และเจดีย์ภูเขาทอง สูงเป็นอันดับ ๒

เรื่องราวของพระเจดีย์ชัยมงคล จะขอยกให้ท่านได้ไปศึกษาจากเว็บไซต์วัดใหญ่ชัยมงคล เพราะเนื้อหาที่จะเล่าในวันนี้เป็นเรื่องของวัดภูเขาทอง
ภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา (ภาพโดย +Lemon Joont  / www.fb.me/luckyjoont )
วัดภูเขาทอง ( ศึกษาประวัติได้จากผลการค้นหา "วัดภูเขาทอง อยุธยา" ) ที่มีความสำคัญและมีประวัติอันยาวนาน แต่ว่าได้ถูกทอดทิ้ง แม้จะมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ๓ รูป แต่สภาพวัดกลับเหมือนวัดร้าง  ทางผู้ปกครองคณะสงฆ์มีความเห็นชอบให้ พระครูใบฎีกาประเทือง กิตฺติปญฺโญ (ป.) วัดใหญ่ชัยมงคล ไปรับหน้าที่เจ้าอาวาสและเป็นผู้ดำเนินการบูรณะวัดภูเขาทองให้กลับมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง

ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ใน entry สุดท้อง น้องสุดท้าย อำลาปีเก่า ๒๕๕๖ ว่าในปี ๒๕๕๗ ข้าพเจ้าจะลงพื้นที่เองให้มากขึ้น จึงได้เดินทางไปทำงานในหลายๆ พื้นที่ เช่น ๓ จังหวัดภาคเหนือ กับภารกิจ บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย  พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ไปเลี้ยงอาหารกลางวันและบริจาคสิ่งของ ร.ร.บ้านหัวนา พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ไปหล่อพระหลวงพ่อทันใจที่วัดป่าศรีราชา ฯลฯ

เมื่อท่านอาจารย์พระครูใบฎีกาประเทืองไปทำหน้าที่บูรณะวัดภูเขาทอง ข้าพเจ้าจึงได้โอกาสลงพื้นที่ทำงานอาสาพัฒนาวัดภูเขาทองร่วมกับท่าน เรียกว่างานนี้ไปด้วยใจ ไปด้วยจิตอาสา ไม่ต้องขอ ไม่ต้องสั่ง ตั้งใจไปเอง

งานมีเยอะมาก ตั้งแต่ถางป่าสะแก ป่ากุ่ม จัดการขยะ รื้อสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และคนงาน จากวัดใหญ่ชัยมงคลไปทำงานกว่า ๒ สัปดาห์แล้วยังไม่แล้วเสร็จ  วันธรรมดามีแต่คนวัด วันหยุดสุดสัปดาห์มีชาวบ้านมาช่วย มีอยู่วันหนึ่ง ทหารใหม่ ม.พัน ๒๕ สระบุรี มาทัศนศึกษา ก็ได้มาช่วย

ที่เขียนเรื่องนี้ให้โลกรู้ก็เพราะต้องการรับสมัครผู้ที่มีจิตอาสามาช่วยทำงาน วันหยุดก็ได้ วันว่างก็ดี บ้านใกล้ บ้านไกล อยากมาออกแรง เสียเหงื่อแลกบุญ ติดต่อมาได้ครับ ติดต่ออาตมาก็ได้ เบอร์โทรอยู่ที่ http://mahaoath.com/contact/ สาธุ อนุโมทนาล่วงหน้า

พระ เณร กำลังช่วยกันถางป่า

ขนเศษอิฐกากปูน
เหงื่อออกเพราะร้อน น้ำตาไหลเพราะควัน
ที่ไม่เคยทำ ก็ต้องหัดทำ
ชาวบ้าน มาช่วย
ทหาร (บังเอิญได้) มาช่วย
"นิลมังกร" ก็มาช่วย
แม่ชีก็มาช่วย โดยเฉพาะเรื่องอาหาร


ญาติโยมก็มาช่วย
มาเอาเหงื่อแลกบุญกัน

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย -บทนำ-

ทริป "บินเดี่ยวไปกับสายลม" ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นการเดินทางร่วมกันของบุคคลผู้มีจิตอาสา ทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆารวาส โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการแบ่งปันรอยยิ้ม แบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องชาวไทยบนพื้นที่สูง หรือที่เราชาวเมืองนิยมเรียกว่า "ชาวเขา" และเพื่อเสริมสร้างบารมีธรรมอันจะเป็นปัจจัยหนุนนำให้ได้ข้ามพ้นจากวัฏฏสงสาร

ภาพจากทริป "บินเดียวไปกับสายลม ครั้งที่ ๑"

ก่อนหน้านี้ เรื่องราวของการเดินทางได้ถูกบันทึกไว้อย่างกระท่อนกระแท่น บนเว็บบล็อก " สายลมแห่งปัญญา - http://dhamweb.exteen.com/page-3 " แต่นับจากนี้ไป บันทึกการเดินทาง "บินเดี่ยวไปกับสายลม" จะถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการ "สายลมแห่งอาสา"


บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย 

- บทนำ -

ทางเข้าอุทยานแห่งชาติแม่เงา อยู่บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ (แม่สอด - แม่สะเรียง) ห่างจากแม่สอด ๑๙๐ กิโลเมตร หรือถ้าลงมาจากแม่สะเรียง จะเป็นระยะทาง ๔๐ กิโลเมตร  บริเวณป่าแถบนี้เป็นเขตติดต่อกันของ ๓ จังหวัด คือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ,และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พื้นที่เป็นป่าดงดอย การคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในฤดูแล้งต้องอาศัยรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่มีสมรรถนะสูง ส่วนฤดูฝนนั้น ต้องพึ่งกำลังขาเท่านั้น

ประชากรส่วนมากเป็นชาวปกาเกอะญอ หรือที่เราเรียกติดปากว่ากะเหรี่ยง อยู่อาศัยกันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บ้าง ใหญ่ๆ บ้าง บางหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ บางหมู่บ้านเป็นคริสต์ และก็มีบางหมู่บ้านที่มีทั้งพุทธและคริสต์

ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญทางฝ่ายพระพุทธศาสนาคือ พระอาจารย์ฮวด พระหนุ่มชาวมาเลเซียผู้มาสร้างสำนัก สร้างวัดและจำพรรษาที่บ้านห้วยมะน้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงานี้เป็นระยะเวลาถึง ๔ ปี โดยท่านได้ปฏิบัติตนเป็นที่น่าเลื่อมใส และยังนำพาให้ชาวบ้านแถบนี้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งยังให้ความช่วยเหลือพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างวัดตามหมู่บ้านต่างๆ สร้างอนามัย สร้างอาคารโรงเรียน ฯลฯ



เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๖ มีโอกาสได้ขึ้นไปเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวที่บ้านห้วยมะน้ำ และบ้านแม่หาด (ทริป "บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๖ เพียบแปล้ ตะลุยดอย") ท่านพระอาจารย์ฮวดได้บอกบุญ ขอรองเท้าให้นักเรียนบ้านห้วยมะน้ำ



ซึ่งได้ดำเนินการจัดหาให้ท่านเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาท่านได้บอกบุญ ขอรองเท้านักเรียนสำหรับนักเรียนบ้านแม่หาด ที่อยู่เลยห้วยมะน้ำขึ้นดอยไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร อันเป็นที่มาที่ไปของทริป "บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗" นี้


บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 1 ถนนดำ -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย 
- บทที่ ๑ ถนนดำ -

เมื่อได้รับปากกับพระอาจารย์ฮวดว่าจะจัดหารองเท้านักเรียนให้กับเด็กๆ ร.ร.บ้านแม่หาด จึงได้ดำเนินการประกาศบอกบุญทั้งทางสาธารณะ โดยประกาศไปทางเว็บไซต์มหาโอ๊ทดอทคอม (http://mahaoath.com/2013/12/shoes-donation-2/) และบอกบุญกันเป็นการส่วนตัวกับญาติโยมสนิทๆ กัน โดยบอกไปทาง Line และ Facebook Messenger ไม่นานก็ได้รับโอนจตุปัจจัยมาจำนวนหนึ่ง เกินพอกับความต้องการ ต้องขออนุโมทนากับผู้ร่วมบุญทุกท่าน โดยเฉพาะโยมจ๋า ปถมาภรณ์ เพื่อเก่าสมัยเรียนปริญญาตรี ที่นอกจากจะทำบุญเอง ช่วยบอกบุญต่อ แล้วยังช่วยประสานงานกับทาง Gold City ผู้ขายรองเท้านักเรียนอีกด้วย (รายชื่อผู้ร่วมบุญไปดูได้ที่เว็บฯ ตามที่อยู่ที่ได้ให้ไว้ข้างต้น)

รองเท้านักเรียน ๑๕๐ คู่ ถุงเท้า ๔๕๐ คู่ รองเท้าแตะ (ของแถมจากบริษัท) อีกจำนวนหนึ่ง ถูกส่งขึ้นไปที่แม่สะเรียงเพื่อถวายพระอาจารย์ฮวดนำไปแจกบนดอย แต่ว่าท่านไม่ยอมแจกให้ ยืนยันว่าจะให้ข้าพเจ้าขึ้นไปแจกเองกับมือ นี้เป็นเหตุที่ ๑  พระอาจารย์ฮวดยังได้บอกอีกด้วยว่าจะทำการสร้างพระพุทธรูปปูนองค์ใหญ่ที่ "เมโลเด" ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๕๗ นี้เป็นเหตุที่ ๒  ทั้ง ๒ เหตุนี้ทำให้ทริป "บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย" เกิดขึ้น โดยกำหนดว่าจะเดินทางวันที่ ๕ กลับวันที่ ๙ หรือไม่ก็ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๕๗ (กำหนดการ https://www.facebook.com/events/584256081643458/)

ก่อนถึงวันเดินทาง ๒ วัน สิ่งของต่างๆ ทั้งที่เก็บๆ ไว้จากสังฆทานที่ได้รับถวายมาบ้าง ที่ต้องไปซื้อหามาใหม่บ้างถูกจัดขึ้นบนรถอย่างทุลักทุเล เพราะของมีมาก เรียกว่ามีตั้งแต่เครื่องปั่นไฟ ไปยันไม้ปั่นหู
จัดของขึ้นรถแบบ "เพียบแปล้"
แม้แต่ด้านในก็ "เพียบแปล้"
ที่เห็นในภาพยังไม่รวมกระเป๋า - เป้ - ย่าม ของใช้ส่วนตัวของผู้ร่วมเดินทางทั้ง ๓ ชีวิต ซึ่งประกอบด้วย
๑. ข้าพเจ้าเอง พระมหาโอ๊ท
๒. โยมชาลี ทำหน้าที่พลขับ
๓. โยมฟ้า ญาติธรรมที่หลวงพี่เชอร์รี่ฝากให้เดินทางมาด้วย

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เราออกเดินทางช้ากว่ากำหนด โดยออกเดินทางเวลาประมาณ ๘.๓๐ น. ไปกันแบบเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ (เพราะรถ Suzuki Caribian นั้นทำความเร็วได้ไม่มาก อย่างเก่งก็ ๑๐๐ กม./ชั่วโมง) แวะเติมแก๊สที่หันตรา ฉันเพลแถวๆ นครสวรรค์ เติมแก๊สอีกครั้งที่สลกบาตร ผ่านเส้นทางเถิน - ลี้ - ดอยเต่า จนมาเย็นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่เราต้องแวะเติมแก๊สให้เต็มถัง จากนี้ไปจนกว่าจะกลับลงมาไม่มีแก๊สให้เราเติมอีกแล้ว รวมทั้งแวะตลาดให้โยมๆ ได้ตุนเสบียงกับข้าวมื้อเย็นด้วย

การเดินทางในวันแรกเป็นถนนดำ (ถนนคอนกรีต/ถนนราดยาง) ล้วนๆ มีจุดหมายที่ วัดดอยเกิ้ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน รวมระยะทางประมาณ ๖๘๘ กิโลเมตร



โดยทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง ข้าพเจ้าได้ติดต่อประสานงานกับหลวงลุงพระปลัดสุพล อาภาธโร รองเจ้าอาวาสรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดดอยเกิ้งที่มีความคุ้นเคยกันดี ว่าจะไปขอพักจำวัด และให้โยมได้อาศัยนอนสักคืน (พร้อมด้วยอาหารเช้า) ซึ่งท่านก็ให้ความเมตตาต้อนรับเป็นอย่างดี

คณะเราใช้เวลาเดินทาง ๑๑ ชั่วโมงก็มาถึงวัดดอยเกิ้งประมาณหนึ่งทุ่ม เมื่อหลวงลุงได้มอบกุฏิให้ข้าพเจ้า และมอบห้องพักให้โยม ๒ ห้อง (ชาย/หญิง แยกกัน) จึงได้ขอตัวพักผ่อนเพราะความเมื่อยล้าจากการเดินทางทั้งวัน
กุฏิที่หลวงลุงมอบให้ข้าพเจ้าจำวัด

ที่พักโยมเป็นบ้านแฝด ๒ ห้อง แยกชาย/หญิง


เช้าวันรุ่งขึ้น (๖ ก.พ. ๕๗) ข้าพเจ้าและคณะตื่นมารับอากาศเย็นยะเยือกอย่างสดชื่น พร้อมกับอาหารเช้าคือข้าวคลุกกะปิที่หลวงลุงท่านได้เมตตาจัดเตรียมไว้ให้ เมื่ออิ่มท้องดีก็พร้อมและถึงเวลาเดินทางต่อ โดยก่อนเดินทางได้ประกอบกองกุศลเป็นปฐม คือได้ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่หลวงลุงพระปลัดสุพล อาภาธโร เพื่อแสดงมุทิตาจิตยินดีที่ท่านได้รับตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอยเกิ้ง
ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมหลวงลุงพระปลัดสุพล อาภาธโร
-- โปรดติดตามตอนต่อไป --

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 2 เลื่อนมา เลื่อนไป -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย 
- บทที่ ๒ เลื่อนมา เลื่อนไป -

ตามกำหนดการวันนี้ (๖ ก.พ. ๕๗) เราต้องเดินทางเข้าไปให้ถึงหมู่บ้าน "เมโลเด" โดยได้นัดหมายกับพระอาจารย์ฮวดไว้ว่าจะเข้าไปถึงบ้านสบโขง จุดที่เราต้องข้ามแม่น้ำแม่เงาจากฝั่งสบเมย แม่ฮ่องสอน ไปฝั่งอมก๋อย เชียงใหม่ ในเวลา ๑๓.๐๐ น.

หลังจากอิ่มท้องดีแล้ว ประมาณ ๘.๓๐ น. เราก็ลาหลวงลุงสุพล ออกเดินทางจากวัดดอยเกิ้งเข้าไปเติมเสบียงที่แม่สะเรียง ตุนอาหารเพลที่ร้านหมูทุบเจ้าประจำ เป็นอาหารแห้งๆ ง่ายๆ เหมาะแก่การเดินทาง มีข้าวเหนียวเป็นหลัก มีกับเป็นไส้อั่ว คอหมูย่าง เนื้อทุบ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกป่นปลาทู และกับข้าวพิเศษคือแอ๊บปลา แอ๊บหมู คือปลาหรือหมูคลุกกับเครื่องแกงแบบเหนือแล้วห่อใบตองปิ้งจนสุก จากนั้นเราตั้งใจจะไปเติมน้ำมันและเสบียงอื่นๆ ที่ปั๊ม ป.ต.ท. บังเอิญระหว่างทางเห็นหลวงพี่เชอร์รี่ซ้อนมอเตอร์ไซค์แซงเราไปตอนเราจะเลี้ยวเข้าปั๊มพอดี เมื่อคืนหลวงพี่เชอร์รี่จำวัดที่วัดจอมทอง อ.แม่สะเรียง ท่านพึ่งไปรับตุ๊ป้อมหาสิงห์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ จ.ลำพูน เพื่อมาเป็นองค์ทำพิธีบวงสรวงในการหล่อพระหลวงพ่อทันใจ  

ULG 95 น้ำมันไร้สารตะกั่วเต็มถัง บวกกับอีกเกือบ ๒๐ ลิตรในถังสำรอง และแก๊ส LPG ที่เหลืออยู่ เป็นเชื้อเพลิงที่เราต้องใช้ขึ้นดอยและกลับลงมาให้ได้ น้ำมันเต็ม เสบียงพร้อม แต่เรายังไม่เริ่มออกเดินทาง เราแวะไปสนทนากับหลวงพี่เชอร์รี่ที่หน้าร้านวัสดุก่อสร้าง ได้ความว่าท่านมาซื้อวัสดุไปเตรียมหล่อพระอีกองค์ที่บ้านกลอโคะ แล้วจะตามเข้าไปที่เมโลเด

ร่วมๆ ๑๐ โมง เราออกเดินทางจากแม่สะเรียง ผ่านอำเภอสบเมย จนมาถึงปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติแม่เงาระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าจากปากทางประมาณ ๔ กิโลเมตรก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ ที่นี่มีห้องน้ำสะอาด บรรยากาศดี เหมาะแก่การแวะฉันอาหาร แต่เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาอันสมควร เราจึงแวะแค่เข้าห้องน้ำแล้วออกเดินทางต่อ โดยกะว่าจะไปฉันเพลที่สำนักสงฆ์บ้านอุมโล๊ะตามแผนเดิมของเรา
ป้ายบอกทางที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา
จากที่ทำการอุทยานฯ ถึงอุมโล๊ะ ๓๐ กิโลเมตร แต่เราใช้เวลามากกว่าที่คิดเพราะสภาพเส้นทางที่คดเคี้ยวบางช่วงเป็นถนนคอนกรีตแต่บางช่วงก็เป็นลูกรัง เมื่อถึงสำนักสงฆ์บ้านอุมโล๊ะ ก็เกือบหมดเวลาฉันเพล เหลือเวลาแค่ ๑๕ นาที  ข้าพเจ้าเคยมาที่อุมโล๊ะครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ พึ่งมีโอกาสได้เจอท่านพระอาจารย์นรินทร์ที่จำพรรษาที่นี่ พร้อมกับน้องเณรอีก ๓ องค์ ได้สนทนากันพอสมควร และได้ประกอบกองบุญที่ ๒ คือถวายเครื่องกันหนาวและจตุปัจจัยให้กับท่านพระอาจารย์นรินทร์
ธาตุเจดีย์ที่อุมโล๊ะ

ถวายเครื่องกันหนาวและจตุปัจจัยแก่พระอาจารย์นรินทร์
ยังไม่ทันได้ลุยอะไรมากมาย เจ้า "นิลมังกร" น้อง Suzuki Caribian คันเก่งก็เริ่มแสดงอาการผิดปกติ คือมีน้ำมันไหลเยิ้มออกมาจากหัวเพลาหลังด้านขวา แต่ปรึกษากับโยมชาลีคนขับที่เป็นช่างแล้วว่าไม่เป็นไร จึงออกเดินทางต่อ ใช้เวลาไม่นานกับระยะทางไม่เกิน ๑๐ กิโลเมตร เราก็มาถึงสะพานปูนบ้านสบโขง สะพานนี้เชื่อมต่อระหว่าง ๒ จังหวัด ฝั่งนี้แม่ฮ่องสอน ฝั่งโน้นเชียงใหม่ มีแม่น้ำแม่เงาเป็นเขตแดน เป็นสะพานแคบๆ คนเดินได้ จักรยานยนต์แล่นได้ แต่รถสี่ล้อหมดสิทธิ์
สะพานปูนบ้านสบโขง
ที่สบโขงนี้เอา เราได้พบกับพระอาจารย์ฮวดแห่งห้วยมะน้ำ และทีมงานหล่อพระพุทธรูปที่มีทั้งพระสงฆ์และฆารวาส กำลังช่วยกันขนของถ่ายจากหกล้อใส่รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 
ถ่ายของจากหกล้อ
เมื่อได้สนทนากับพระอาจารย์ฮวดและหลวงพี่กุน (ทีมหล่อพระ) เราจึงได้ทราบว่ากำหนดการต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพราะว่าการขนส่งลำบากอุปกรณ์แบบหล่อพระไม่สามารถนำเข้าไปติดตั้งได้ตามกำหนดเวลา 

แต่แรกเลยนั้นว่าจะหล่อพระวันที่ ๘ ก.พ. คุยกันอีกทีก่อนออกเดินทางจากอยุธยาว่าหล่อวันที่ ๗ พอมาถึงกลายเป็นว่าสถานการณ์บังคับให้หล่อวันที่ ๙ เลื่อนมา เลื่อนไป ตามเหตุและปัจจัย การสร้างพระองค์ใหญ่ขนาดหน้าตัก ๕ เมตร ๖๐ สูงกว่า ๘ เมตร ปกติก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งมาทำบนดอยที่มีปัญหาหลักคือการขนส่งลำบากมาก กำหนดการต่างๆ เราก็ต้องยืดหยุ่นได้พอสมควร

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 3 ขึ้นเขา ลงห้วย -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย 
- บทที่ ๓ ขึ้นเขา ลงห้วย -

เมื่อพระอาจารย์ฮวดและทีมหล่อพระถ่ายของจากหกล้อใส่รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นทีเรียบร้อย เราก็พร้อมที่จะเดินทางไปบ้านเมโลเด เจ้า "นิลมังกร" ถูกสับเกียร์จาก 4HI เป็น 4LO เนื่องจากหนทางข้างหน้านั้นทุรกันดารทั้งขึ้นเขาสูงชัน ทั้งลงห้วยที่ดีว่าน้ำไม่ค่อยมากนักในฤดูนี้ หนทางนี้ถ้าเป็นฤดูน้ำหลากจะไม่สามารถสัญจรไปมาได้
ข้ามน้ำแม่เงา เขตแดนเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน
หลังจากที่เราข้ามน้ำแม่เงาจากฝั่งสบเมย แม่ฮ่องสอน มาฝั่งอมก๋อย เชียงใหม่แล้ว เส้นทางลูกรังเป็นลอนคลื่น เป็นหลุมเป็นบ่อ เลาะคันนาขั้นบันไดของชาวบ้านพาเรามาถึงเชิงดอย ระหว่างทางรถนำมีปัญหาต้องแวะจัดการมัดของท้ายรถใหม่และให้เราขึ้นหน้าไปก่อน เมื่อขึ้นดอยไปไม่ไกลก็ผ่านหมู่บ้านจือทะ หนทางที่ขึ้นชันมีต่อไปอีกระยะหนึ่งก็เริ่มทิ้งตัวลดระดับลง ด้วยสัญชาติญาณทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจบอกโยมชาลีคนขับให้เลี้ยวขวาที่ทางแยกรูปตัว T ไม่นานเราก็ถึงทางลงห้วย น้ำใส ไหลแรง แต่ไม่ลึก อุปสรรคคือตลิ่งที่ชัน มีหลุมดักล้อขวาในขาลง ส่วนขาขึ้นตลิ่งชันไม่แพ้กันและมีรากไม้ดักล้อหน้าซ้ายอยู่ แต่เจ้า "นิลมังกร" ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง หัวใจใหม่ ๑,๕๐๐ ซี.ซี. รหัสรุ่นเครื่อง G15A พาเราขึ้นจากห้วยอย่างสบายๆ ไม่นานนักเราก็ถึงที่หมายแรก สำนักสงฆ์บ้านเมโลเด มณฑลแห่งพิธีหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจองค์แรกบนดอย (คลิ๊กที่แผนที่ด้านล่างนี้ไปดูแผนที่เต็มได้)
เส้นทางจากอุทยานแห่งชาติแม่เงา ไปบ้านเมโลเด
ใช้เวลาอยู่ที่เมโลเดได้ไม่นาน หลังจากพระอาจารย์ฮวดนำของมาลงและสั่งการประสานงานต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยดี ท่านก็นิมนต์คณะของเรา รวมกับคณะของท่านเจ้าอาวาสวัดจอมแจ้ง อ.แม่สะเรียง ที่เข้ามาอยู่มะโลเดก่อนแล้ว ให้ไปพิจารณาสถานที่เทปูนหล่อพระหลวงพ่อทันใจองค์ที่ ๒ ที่บ้านทีสะนอ เขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

ขบวนเราคือ Toyota LN106 ของชาวบ้านที่มาช่วยพระอาจารย์ฮวดขนของ กับเจ้า "นิลมังกร" ขับตามๆ กันไปย้อนทางเดิมถึงสบโขงมุ่งหน้าไปทางอุมโล๊ะมีทางแยกซ้ายเป็นทางทรายมุ่งหน้าไปลงน้ำแม่เงาที่ทั้งลึกทั้งไหลแรงกว่าบริเวณบ้านสบโขงจนพระอาจารย์ฮวดไม่แน่ใจในสมรรถนะของ "นิลมังกร" ถึงกับต้อง ว. มาถามว่าจะไปไหวไหม

อันที่จริง Suzuki Caribian รหัส SJ413 นั้นเตี้ยกว่า LN106 ไม่ใช่น้อย แต่เจ้า "นิลมังกร" ได้ผ่านการเพิ่มส่วนสูงไม่ต่ำกว่า ๗ นิ้ว ประกอบกับยางระดับ ๓๑ นิ้ว ทำให้ช่วงล่างโดยรวมสูงกว่า LN106 พอประมาณทีเดียว ถ้า LN106 ไปได้ เชื่อว่า "นิลมังกร" ก็ไปได้เหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าตอบ ว. ไปแบบถ่อมตัวว่าขอดูเชิงก่อน เมื่อเห็น LN106 ข้ามไป ข้าพเจ้าจึง ว. แจ้งให้พระอาจารย์ฮวดนำไปได้เลย



ตลอดหนทางจากข้ามน้ำแม่เงา ไปจนถึงที่ก่อสร้างสำนักสงฆ์บ้านทีสะนอ เราต้องข้ามน้ำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ถ้าดูจากแผนที่ (แผนที่ เมโลเด-ทีสะนอ)จะเห็นว่าน้ำที่เราข้ามนั้นเป็นห้วยเดียวแต่คดไปโค้งมา ไม่ถึง ๒๐ นาทีเราก็ถึงจุดหมาย
สถานที่ก่อสร้างสำนักสงฆ์บ้านทีสะนอ

กุฏิชั่วคราวสำหรับทีมก่อสร้าง

ลำห้วยที่ไหลผ่านหน้าสำนัก เป็นห้วยเดียวกับที่เราข้ามมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ
พระอาทิตย์ลดระดับลงทุกที แต่พระอาจารย์ฮวดก็ยังสาละวนอยู่กับการสั่งการประสานงานเรื่องสร้างฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจองค์ที่ ๒ ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน  อันที่จริงการหล่อหลวงพ่อทันใจองค์ที่ ๒ นี้ไม่อยู่ในแผน แต่ทุกฝ่ายไม่แน่ใจว่าถ้าหล่อองค์แรกที่เมโลเดแล้ว ทีมหล่อพระจะได้โอกาสขึ้นมาอีกเมื่อไร (คนขับหกล้อเปรยๆ ว่าถ้าให้มาอีกคงคิดหนัก เพราะทางโหดเหลือเกิน)

เราขอตัวเดินทางมุ่งสู่ที่หมายที่เราจะพักแรมกันคือวัดศิริห้วยมะน้ำ ไทย-มาเลเซีย โดยมี ปุ๊กคา ลูกศิษย์วัดนั่งมากับเราเพื่อบอกทางและจัดที่พักน้ำฉันน้ำใช้ให้เมื่อเราไปถึงวัด การเดินทางใช้เส้นทางย้อนกลับมาที่สบโขงแล้วตรงไป ขึ้นดอยประมาณ ๔ กิโลเมตร เส้นทางนี้ไม่ต้องข้ามน้ำ แต่ว่าสูงชันและมีร่องน้ำ ถ้าขับกลางคืนไม่ชินทางจะลำบากมาก (แผนที่ ทีสะนอ-ห้วยมะน้ำ)



ข้าพเจ้าสรงน้ำสรงท่าเรียบร้อย มายืนคุยกับโยมๆ ที่กำลังเตรียมอาหารเย็นง่ายๆ จากเสบียงสำเร็จรูปในรถสักพักหนึ่ง ฉันน้ำปานะแล้วก็แยกไปกุฏิเพื่อจัดการกับไฟล์วีดีโอบันทึกเส้นทาง
กุฏิที่ห้วยมะน้ำ
บรรยากาศวัดศิริห้วยมะน้ำ ไทย-มาเลเซีย
วิธีหุง (อุ่น) ข้าวเย็นของโยมๆ

ค่ำๆ ได้ยินเสียงเด็กๆ มาทำวัตรสวดมนต์กัน ต้องชื่นชมพระอาจารย์ฮวดที่สามารถสอนให้เด็กๆ สวดมนต์แปลได้อย่างคล่องแคล่วไม่ต้องเปิดหนังสือ และมาสวดมนต์ที่วัดอย่างสม่ำเสมอแม้พระอาจารย์จะไม่อยู่ก็ตาม  เมื่อข้าพเจ้าจัดการกับไฟล์วีดีโอเรียบร้อยจึงได้ขึ้นศาลาไปร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น และพาเด็กๆ เจริญจิตภาวนานั่งสมาธิ เสร็จแล้วถือโอกาสมอบทุนการศึกษาให้เด็กๆ ที่มาสวดมนต์ทุกคน คนละนิดละหน่อย

ระหว่างที่ข้าพเจ้ากำลังจะเคลิ้มหลับอยู่ในถุงนอนที่กุฏิ ได้ยินเสียงพระอาจารย์ฮวดเดินมา คิดว่าน่าจะใกล้ๆ ๔ ทุ่มแล้ว จึงเปิดประตูรับและนิมนต์ท่านให้เข้ามาสนทนากันด้านในเนื่องจากอากาศด้านนอกนั้นหนาวไม่ใช่เล่น ปรากฎว่าท่านตั้งใจจะมาปิดไฟระเบียงที่ข้าพเจ้าลืมปิดก่อนนอน ท่านเกรงว่าไฟจะหมดตอนเช้าจะไม่มีใช้ (ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์)

เพราะกลัวจะลืมข้าพเจ้าจึงได้รีบถวายปัจจัยให้พระอาจารย์ฮวด ๕,๐๐๐ บาท กับที่มีญาติโยมถวายมาร่วมสร้างพระอีก ๒,๓๐๐ บาท ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปจำวัดพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายกลับมามีแรงกำลัง วันพรุ่งนี้ยังมีภารกิจหลายอย่างรอเราอยู่

--โปรดติดตามตอนต่อไป--

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 4 ประสบการณ์ -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย 
- บทที่ ๔ ประสบการณ์ -

ต้องขอสารภาพตามตรงว่าอากาศหนาวเหน็บบนดอยนั้นทำให้ข้าพเจ้าไม่อยากจะลุกออกมาจากถุงนอนเลย เช้าวันนี้ (๗ ก.พ. ๕๗) เลยตื่นเอาเวลา ๖ โมงเช้า ปลดเปลื้องภาระธุระส่วนตัวเสร็จเรียบร้อย ทำนู่นนิด นี่หน่อย ชาวบ้านก็ทะยอยกันนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญที่วัดเนื่องจากวันนี้เป็นวันพระ

สิ่งของหลายอย่างที่ข้าพเจ้าขนใส่รถมา มีเครื่องกันหนาว หมอน ร่ม และบริขารอื่นๆ สำหรับพระภิกษุ ตลอดจนกาแฟ ไมโล ยาสามัญ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด เทียน ธูป ฯลฯ ถูกขนมาวางรวมกับสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นสังฆทาน
ข้าวปลาอาหารและเครื่องสังฆทาน

รับศรัทธาญาติโยมบ้านห้วยมะน้ำ
เหตุที่ข้าพเจ้าพรรษามากกว่า พระอาจารย์ฮวดจึงให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ให้ศีล หลังจากนั้นจึงสวดถวายพรพระ (คาถาพาหุง) จากนั้นจึงให้ญาติโยมถวายทาน ซึ่งประทับใจข้าพเจ้ามากๆ โยมวัดศิริห้วยมะน้ำ ไทย-มาเลเซียแม่นศาสนพิธี กล่าวคำถวายได้พร้อมเพรียงดี ไม่มีเก้อเขิน


หลังจากเสร็จพิธีทำบุญวันพระ ยังพอมีเวลาผ่อนคลายอิริยาบถ โยมชาลีและโยมฟ้าที่มาด้วยกันถือโอกาสนี้สนทนากับพระอาจารย์ฮวดถึงที่มาที่ไปว่าทำไมท่านถึงได้มาสร้างสำนักอยู่บนดอยสูง อยู่ในป่าลึกอย่างนี้ และแถมไม่ได้สร้างเพียงแห่งเดียว แต่สร้างแล้ว ๔ หมู่บ้าน ๓ จังหวัด (ประวัติของท่านดูในวีดีโอที่อยู่ใน "บินเดียวไปกับสายลม 2557ฯ -บทนำ-")

สนทนากันเพลินจนเวลาล่วงไปเกือบๆ เพล วันนี้มีกิจนิมนต์ต้องไปฉันเพลงานแต่งงานของคนในหมู่บ้าน ปกติชาวปกาเกอะญอแต่งงานจะไม่มีพิธีสงฆ์ แต่เจ้าบ่าวคนนี้เป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ฮวด จึงจัดถวายเพลพระด้วย ได้ยินว่าวันก่อนจัดถวายเพลที่บ้านเจ้าสาว วันนี้จัดถวายเพลที่บ้านเจ้าบ่าว

เจ้าบ่าวมานิมนต์ที่วัดพร้อมขอโทษขอโพยที่มาช้าเพราะมัวแต่ต้อนรับแขกที่มางาน เราไปถึงบ้านงานจึงไม่ได้สวดมนต์อะไรมากแค่ให้ศีลแล้วให้ถวายทาน ฉันเสร็จอนุโมทนาให้คู่บ่าวสาวกรวดน้ำ ชะยันโตให้ ๓ จบ ซัดดอกไม้แทนพรมน้ำมนต์ และให้โอวาทธรรมเล็กน้อยสำหรับคู่แต่งงาน (ฆารวาสธรรม) ซึ่งทั้งหมดนี้พระอาจารย์ฮวดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำทั้งสิ้น เรียกว่าใช้งานคุ้มเลยทีเดียว

ทั้งพิธีทำบุญวันพระตอนเช้าและฉันเพลงานแต่งงานบนดอยนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีของข้าพเจ้าเลยทีเดียว แม้จะเคยไปงานประเภทเดียวกันนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อมาต่างที่ต่างถิ่นก็อดตื่นตาตื่นใจไม่ได้

รับถวายภัตตาหารจากคู่บ่าวสาว

คู่บ่าวสาวกรวดน้ำ

ซัดดอกไม้แทนพรมน้ำมนต์
ตั้งแต่เมื่อวาน (๖ ก.พ. ๕๗) พระอาจารย์ฮวดได้ ว. ไปนัดหมายกับทางโรงเรียนบ้านแม่หาดว่าจะขึ้นไปถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. แถวๆ นี้ไม่มีสัญญาณมือถือสักค่าย ระบบไหนว่าแน่ๆ ขึ้นมาบนนี้บอดทั้งหมด แต่ว่า อบต.แม่สวด ใช้วิทยุสื่อสารเครื่องแดง (CB 245 MHz) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีและใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทางพระอาจารย์ฮวดจึงพออาศัยติดต่อตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อประสานกิจการงานได้สะดวกพอสมควร

กว่าเราจะฉันเพลเสร็จก็เป็นเวลาเกือบๆ เที่ยง แล้วจึงต้องรีบออกเดินทางไปที่โรงเรียนบ้านแม่หาด จุดหมายหลักแห่งหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้

--โปรดติดตามตอนต่อไป--

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 5 โรงเรียนของหนู -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย
- บทที่ ๕ โรงเรียนของหนู -

เราช้ากว่าเวลาที่นัดหมายไปครึ่งชั่วโมงพึ่งจะได้เดินทางออกจากบ้านห้วยมะน้ำมุ่งหน้าสู่โรงเรียนบ้านแม่หาดที่อยู่ห่างออกไป ๘ กิโลเมตร ซึ่งถ้าเป็นในเมืองคงจะใช้เวลาอย่างมากไม่เกิน ๑๐ นาทีเท่านั้น

วันนี้นอกจากข้าพเจ้า โยมชาลี โยมฟ้าแล้ว ยังมีพระอาจารย์ฮวด และปุ๊กคาเด็กวัด ร่วมเดินทางไปกับเจ้า "นิลมังกร" ที่มีแค่ ๔ ที่นั่ง จึงต้องมีการปรับตำแห่งการนั่งใหม่ ให้โยมชาลี โยมฟ้า และปุ๊กคา นั่งเบียดกันที่เบาะหลัง พระอาจารย์ฮวดนั่งในตำแหน่ง Co-Driver ส่วนข้าพเจ้าจำเป็นต้องกระโดดข้ามฟากมาเป็น Driver เอง

เส้นทางระยะ ๘ กิโลเมตร แต่ไต่ระดับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ บ้านห้วยมะน้ำอยู่ที่ระดับประมาณ ๕๒๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ที่หมายของเรานั้นอยู่ที่ประมาณ ๙๒๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
กราฟสีเขียวช่องขวามือแสดงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ทางลูกรังแคบๆ ที่เต็มไปด้วยร่องลึกที่เกิดจากน้ำฝนไหลเซาะ ดูๆ แล้วบางร่องน่าจะลึกระดับเข่า ทำให้เจ้า "นิลมังกร" ต้องค่อยๆ คลานไปเรื่อยๆ คร่อมร่องบ้าง หลบข้างๆ ร่องบ้าง บางช่วงที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไลน์ลงไปในร่องรถก็โคลงเคลงพอให้คนนั่งถึงกับต้องภาวนา "พุทโธแคล้วคลาด ธัมโมแคล้วคลาด สังโฆแคล้วคลาด" เรียกว่าเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

ช่วงต้นๆ ข้าพเจ้ายังไม่ค่อยชินกับเจ้า "นิลมังกร" เท่าไร จึงมีอาการกดคันเร่งเกินความจำเป็นพอให้คนนั่งอกสั่นขวัญหายบ้าง เพราะแม้ว่าจะเคยขับมาตั้งแต่ยังไม่ได้บวชก็ตาม แต่ว่าพอเป็นพระแล้วก็ไม่ได้ขับเลยร่วมๆ ๑๐ ปี ปีก่อน (๒๕๕๖) ที่ขึ้นมาแถบนี้ได้ขับแบบระบบไม่สมบูรณ์เท่าไร แต่ครั้งนี้ทุกระบบสมบูรณ์เต็มที่ กำลังเกือบๆ  ๑๐๐ แรงม้าจากเครื่อง G15A 1,500 cc ถ่ายทอดสู่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อหรือที่เรียกว่าเกียร์สโลว์ ๑๓๐๐ เฟืองท้ายเดิมๆ และยาง ๓๑ นิ้ว นับว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวทีเดียว เมื่อเริ่มชินกับ "นิลมังกร" แล้วก็สามารถ "ปราบพยศ" ได้อย่างราบคาบ พาคณะเดินทางอย่างปลอดภัยตลอดเส้นทาง
"นิลมังกร" ระหว่างเส้นทางจากสบโขงขึ้นไปห้วยมะน้ำเมื่อปี ๒๕๕๖
เราใช้เวลาราวๆ ๕๐ นาทีก็มาถึง โรงเรียนบ้านแม่หาด หมู่ที่ ๗ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

คุณครูและเด็กๆ ได้รอพวกเราอย่างใจจดจ่อ ระหว่างทางมีการ ว. มาถามถึงการเดินทางของเราเป็นระยะๆ  รองเท้านักเรียนพร้อมถุงเท้าที่ถูกส่งขึ้นมาก่อนหน้าหลายเดือน ถูกจัดเรียงบนโต๊ะหน้าเสาธง สิ่งของบริจาคในรถถูกขนลงไปเรียงไว้บนโต๊ะที่ยังว่างอยู่

ก่อนที่จะทำการแจกสิ่งของและทุนการศึกษาข้าพเจ้ากับพระอาจารย์ฮวดได้ร่วมประชุมกับคณะครู พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) อบต. เพื่อทำความเข้าใจ ๒ เรื่อง คือ ๑. เรื่องการทำเอกสารขอความอนุเคราะห์โต๊ะนักเรียนใหม่ที่ข้าพเจ้ารับเป็นผู้ประสานงานกับเจ้าภาพใหญ่คือ ดร.ชินเวศ สารสาส และ ๒. กำหนดการฉลองอาคารใหม่ของโรงเรียนที่ญาติโยมทางมาเลเซียได้ให้ทุนก่อสร้างผ่านมาทางพระอาจารย์ฮวด

หลังจากประชุมจึงได้เริ่มการแจกสิ่งของ เพื่อความรวดเร็วคุณครูจึงให้ข้าพเจ้ามอบรองเท้าให้กับตัวแทนนักเรียนเป็นปฐม ส่วนที่เหลือให้คุณครูดำเนินการต่อภายหลัง จากนั้นก็ได้มอบสิ่งของและเงินให้กับโรงเรียน ,ครู ,และนักเรียน โดยมีผู้ช่วยคือโยมฟ้า ทำหน้าที่แจกลูกอมแก่เด็กๆ
มอบรองเท้าให้ตัวแทนนักเรียน
มอบสิ่งของและเงินสดให้โรงเรียนและครู

แจกทุนการศึกษานักเรียน
โยมฟ้าช่วยแจกลูกอม
รายการสิ่งของและเงินสดที่ได้แจกไปมีดังนี้

๑. เงินสด ๕,๐๐๐ บาท
๒. คอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง ที่ได้รับมาจากโยมบุหงา จันทร์แก้มแก้ว
๓. เครื่องช่วยสอน (เครื่องขยายเสียง) พร้อมถ่านและแท่นชาร์จ
๔. เครื่องปั่นไฟขนาด ๒ แรงครึ่ง ๙๐๐ วัตต์ พร้อมออโตลู้ป
๕. หนังสือนิทาน ๖๐ กว่าเล่ม
--เหล่านี้มอบให้โรงเรียน

๖. เครื่องเขียนจำนวนมาก
๗. รองเท้า ถุงเท้านักเรียน ๑๕๐ ชุด
๘. ขนมปัง ๒ ปีป และลูกอมถุงใหญ่
๙. ทุนการศึกษา ๕,๕๖๐ บาท
--เหล่านี้มอบให้นักเรียน

๑๐. เงินสด ๖,๐๐๐ บาท
--มอบให้เป็นขวัญกำลังใจคุณครู

////////// นับว่าภารกิจหลัก ๑ ใน ๒ ประการของเราได้สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี ขออนุโมทนากับผู้ร่วมบุญทุกๆ ท่าน //////////

หลังจากเสร็จสิ้นการมอบสิ่งของต่างๆ แล้ว เราได้เดินไปดูความคืบหน้าของการก่อสร้างอาคารโรงเรียนหลังใหม่ที่มีกำหนดจะทำพิธีฉลองและส่งมอบในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗
อาคารโรงเรียนบ้านแม่หาดหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง
เราใช้เวลาที่นี่ได้ไม่นานนักก็ต้องรีบออกเดินทางต่อ เพราะว่าเรายังมีที่หมายอีกหลายที่ มีภารกิจอีกหลายอย่างที่ต้องกระทำ รวมทั้งภารกิจหลักของการเดินทางครั้งนี้คือการมาหล่อพระ "หลวงพ่อทันใจ"

--โปรดติดตามตอนต่อไป--

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 6 บุญบังเอิญ -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย
- บทที่ ๖ บุญบังเอิญ -

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจมอบสิ่งของและทุนการศึกษาที่โรงเรียนบ้านแม่หาดแล้ว คณะเราเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางคนละทางกับขามา 

เส้นทางนี้ผ่านไปบ้านกุยพิคีแล้วตัดตรงลงไปที่บ้านอุมโล๊ะ ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเป็นทางลูกรังมีร่องน้ำ บางช่วงเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดเขื่องๆ ลอยปูดโปนพอให้นั่งรถกันหัวสั่นหัวคลอน เส้นทางส่วนมากเป็นทางลงดอย พิจารณาแล้วเห็นว่าถ้าเป็นฤดูฝนคงจะเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่ยังดีที่บางช่วงที่ยากมากๆ เช่น ช่วงที่เป็นทางโค้งหักศอกต่อด้วยทางขึ้นชัน เป็นต้นนั้น ได้มีการเทคอนกรีตไว้เป็นระยะๆ 

ที่บ้านกุยพิคี เราได้แวะบริเวณก่อสร้างวัดอีกแห่งที่ท่านพระอาจารย์ฮวดกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ภายหลังข้าพเจ้าได้ยินว่าพระอาจารย์ฮวดตั้งปณิธานไว้ว่าจะสร้างให้ได้ ๙ วัด ก็ขออนุโมทนาและจะพยายามสนับสนุนเท่าที่จะพอทำได้
พระพุทธรูปและพระเจดีย์ที่กุยพิคี
ไม่นานนักหลังจากที่เราแวะบอกข่าวกับพ่อหลวง หรือผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านกุยพิคี ให้ทราบถึงกำหนดการวันหล่อพระพุทธรูปที่เมโลเดแล้ว เราก็ได้เดินทางมาถึงบ้านอุมโล๊ะ แวะที่บ้าน อบต. ฉันน้ำปานะเย็นๆ ให้ชื่นใจ บ้าน อบต. เปิดเป็นร้านค้า และมีน้ำแข็งขายด้วย!!!
บ้าน อบต. ซูเปอร์มาเก็ตกลางป่า
จากอุมโล๊ะมุ่งหน้าสบโขงเราได้รับสัญญาณวิทยุสื่อสาร เรียกขานมาจากหลวงพี่เชอร์รี่ซึ่งพึ่งจะเดินทางเข้ามาพร้อมกับตุ๊ป้อมหาสิงห์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ จึงได้นัดกันว่าเราจะไปรอพบที่บ้านสบโขง แต่ระหว่างทางเราแวะไปที่จุดข้ามน้ำไปบ้านทีสะนอ เสียเวลาไปหลายนาที จึงไปถึงสบโขงหลังคณะของหลวงพี่เชอร์รี่

คณะที่รออยู่ประกอบด้วย ตุ๊ป้อมหาสิงห์ หลวงพี่เชอร์รี่ น้องๆ สามเณร ๒ องค์ โยมแดง และโยมนิตยา เดินทางมาด้วยรถกระบะขับเคลื่อนสองล้อธรรมดาไม่ได้ยกสูง จึงไม่สามารถข้ามน้ำแม่เงาไปฝั่งเชียงใหม่เพื่อไปเมโลเดได้ 

ปรึกษากันไม่นานก็สรุปว่าข้าพเจ้าได้มีโอกาสทำบุญแบบบังเอิญๆ ไม่ได้อยู่ในแผน คือ ได้เป็นผู้ขับรถพาตุ๊ป้อมหาสิงห์และน้องเณรผู้อุปัฏฐากจากบ้านสบโขงไปบ้านเมโลเด ซึ่งตลอดทางข้าพเจ้าถึงกับเกร็งและต้องเอ่ยปากขอสุมาตุ๊ป้ออยู่เรื่อยๆ เพราะเกรงว่าท่านจะได้รับความลำบากจากหนทางที่วิบาก แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงความเดือดร้อนอย่างไรเลย


เมื่อกลับออกมาถึงบ้านสบโขง ข้าพเจ้าย้ายไปนั่งเป็น Co-Driver แล้วให้โยมชาลีมากุมบังเหียน ควบคุม "นิลมังกร" พาคณะเราซึ่งตอนนี้เหลือแค่ ข้าพเจ้า โยมชาลี โยมฟ้า และปุ๊กคา แยกจากคณะหลวงพี่เชอร์รี่ มุ่งหน้ากลับไปถึงที่วัดศิริห้วยมะน้ำ ไทย-มาเลเซีย ก็เกือบหมดแสงแห่งกลางวันพอดี

คืนนั้นข้าพเจ้าอ่อนล้าจนต้องเข้าจำวัดแต่หัวค่ำ ไม่ได้อยู่สวดมนต์กับเด็กๆ ที่มากันเป็นปกติ เหนื่อยมาทั้งวันต้องขอชาร์จแบตตัวเองให้เต็มที่ ก่อนที่จะถึงวันหล่อพระที่เมโลเด ภารกิจหลักที่เหลือของการเดินทางรอนแรมมาในครั้งนี้

-- โปรดติดตามตอนต่อไป --

บินเดี่ยวไปกับสายลม 2557 หล่อพระและทำบุญบนดอย - บทที่ 7 ประเดิม -

บินเดี่ยวไปกับสายลม ๒๕๕๗ หล่อพระและทำบุญบนดอย
- บทที่ ๗ ประเดิม -

วันนี้ (๘ ก.พ. ๕๗) เป็นวันสบายๆ ไม่มีกำหนดการอะไร ถือว่าเป็นวันพักผ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราเลื่อนกำหนดการเทปูนหล่อพระพุทธรูปเป็นวันพรุ่งนี้

เมื่อตื่นมาตอนเช้าทำธุระส่วนตัวได้ไม่นาน ชาวบ้านห้วยมะน้ำเริ่มทะยอยกันมาใส่บาตร แต่พระอาจารย์ฮวด เจ้าสำนัก ท่านค้างจำวัดอยู่ที่เมโลเด ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นผู้รับศรัทธาแทน

ธรรมเนียมที่บนดอยนี้ และหลายๆ หมู่บ้านในแถบ อ.สบเมย เท่าที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส คือญาติโยมจะมาใส่บาตรที่วัด พระภิกษุไม่ต้องออกไปบิณฑบาต คงเป็นเพราะว่าบนดอยนี้ญาติโยมแต่ละครอบครัวมีเวลาตื่น เวลาทำกับข้าวแตกต่างกันไป หากพระออกไปบิณฑบาตบางบ้านข้าวสุกแล้ว บางบ้านข้าวยังไม่สุก ญาติโยมจึงนิมนต์ให้พระคุณเจ้ารออยู่ที่วัด ข้าวสุกเมื่อไรก็จึงนำมาใส่บาตร เท่าที่สังเกตดูโยมคนแรกที่มาใส่บาตร กับโยมคนสุดท้าย ทิ้งช่วงเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงเลยทีเดียว

ฉันเช้าเสร็จ แบ่งข้าวไว้ฉันเพลเล็กน้อยแล้วจึงได้สละอาหารบิณฑบาตให้โยมชาลี โยมฟ้า และปุ๊กคา ทานกัน เมื่ออิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้า คณะเราใช้เวลาเก็บสิ่งของสัมภาระต่างๆ ขึ้น "นิลมังกร" คืนนี้เราจะย้ายที่นอนไปนอนกันที่เมโลเด จนใกล้ๆ เพลโยมๆ จึงช่วยกันทำอาหารจากเครื่องกระป๋อง ของแห้งต่างๆ ที่เรานำมา โดยมีโยมชาลีรับหน้าที่พ่อครัวหัวป่าก์
พ่อครัวหัวป่าก์ โยมชาลี
พระฉันเพล โยมทานข้าวกลางวันเสร็จเรียบร้อย ทิ้งให้ข้าวเรียงเม็ดดี เราเก็บของที่เหลือขึ้นรถแล้วออกเดินทางไปบ้านเมโลเดทันที เมื่อไปถึงจึงได้รู้ว่าทั้งพระอาจารย์ฮวด และหลวงพี่เชอร์รี่ต่างมีภารกิจด่วน ต้องเข้าไปในเมืองไปหาซื้อโม่ผสมปูน

อันที่จริง พระอาจารย์ฮวดได้ติดต่อขอเช่าโม่ผสมปูนจากผู้รับเหมาที่มารับงานในหมู่บ้านใกล้ๆ ไว้แล้ว และเขาก็รับคำมั่นเหมาะ พอถึงเวลาจริงๆ กลับบอกว่าได้ขายโม่ไปแล้ว ทำให้ต้องออกไปหาโม่เป็นการด่วน เนื่องจากต้องใช้งานในวันรุ่งขึ้น

จากบริเวณศาลาของสำนักสงฆ์บ้านเมโลเด ต้องเดินเท้าขึ้นดอยเตี้ยๆ จึงจะถึงบริเวณที่จะสร้างพระพุทธรูป ที่นี่เองข้าพเจ้าได้มีโอกาสประเดิมเทปูนหล่อองค์พระเป็นคนแรก เพราะตามขั้นตอนแล้วจะต้องเทปูนหล่อพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างไว้ก่อนวันเทจริง เมื่อพระทีมงานช่างหล่อจากวัดสระพัง จ.นครปฐม เห็นว่าทั้งพระอาจารย์ฮวดก็ดี หลวงพี่เชอร์รี่ก็ตาม ต่างไม่อยู่ในมณฑล จึงได้นิมนต์ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เทปูนเป็นปฐม
เดินไปดูเขาประกอบแบบเฉยๆ แต่กลับได้เทปูนประเดิม
เทปูนหล่อพระหัตถ์ ๒ ข้าง ใช้ปูน ๓ ลูก
เด็กๆ มาช่วย ตั้งแถวส่งถังปูนเปล่า
เมื่อเทปูนหล่อพระหัตถ์เสร็จ คณะเราเริ่มมองหาที่นอนคืนนี้ บนศาลาทั้งหลังเก่า หลังใหม่ ต่างก็แออัด ที่ทางถูกจับจองโดยพระในพื้นที่ พระทีมงานช่างหล่อ พระอาคันตุกะ ฯลฯ จึงตัดสินใจกางเต้นท์นอน ดีว่าข้าพเจ้านำเต้นท์ติดรถมาด้วยถึง ๒ หลัง ทีแรกตั้งใจว่าหลังใหญ่ไว้นอนเอง หลังเล็กไว้เผื่อโยมชาลี แต่กลับกลายเป็นว่าข้าพเจ้าต้องนอนหลังเล็ก สละหลังใหญ่ให้โยมชาลี โยมฟ้า และปุ๊กคา นอนอัดกัน ๓ คน
บรรยากาศดี กางเต้นท์นอนสบายใกล้ๆ ที่จอด "นิลมังกร"
เสียงอาจารย์ฮวดดังมาจากวิทยุสื่อสาร แจ้งว่ามาถึงสบโขงแล้วและให้ออกไปรับด้วย ข้าพเจ้าจึงนำ "นิลมังกร" ออกไป สวนกับรถของโยมจากแม่สะเรียงที่พระอาจารย์ฮวดนั่งมาด้วย ข้ามน้ำไปรับโยมแดง และโยมนิตยาที่เดินทางมากับหลวงพี่เชอร์รี่ สอบถามได้ความว่าหลวงพี่เชอร์รี่ต้องไปอำเภอจอมทอง เชียงใหม่ เพื่อหาซื้อโม่ผสมปูน ยังไม่กลับเข้ามา

ช่วงหัวค่ำ โยมนิตยาต้องเป็นแม่ครัวจำเป็น เตรียมเครื่องก๋วยเตี๋ยวสำหรับเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมหล่อพระวันรุ่งขึ้น โดยมีโยมแดง โยมฟ้า ปุ๊กคา และโยมจากแม่สะเรียงคอยช่วย แม้แต่ข้าพเจ้าเองยังได้ช่วยหั่นพริกทำน้ำส้มพริกดอง หั่นต้นหอมผักชี เพราะดูๆ แล้ว ถ้าไม่ช่วยคงนานกว่าจะแล้วเสร็จ ถึงกระนั้นก็ตามกว่าเราจะเสร็จงานและได้พักผ่อนก็ล่วงไปถึงเที่ยงคืนแล้ว

ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บค่ำคืนนั้นข้าพเจ้าหลับฝันว่ามีนางฟ้ามาก่อกองไฟทางเบื้องซ้ายใกล้ๆ กับเต้นท์นอน ทำให้ข้าพเจ้าหลับสบายจนถึงเช้า

-- โปรดติดตามตอนต่อไป --

บทความที่ได้รับความนิยม

กลับขึ้นบนสุด