วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ค่ายสร้างรัฐศาสตร์ มช. ส่งวีดีโอมา ดูแล้วขนลุก !!


น้อง ๆ จากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ทุนทำค่ายอาสาพัฒนา จากสายลมแห่งอาสา ไป ๒๐,๐๐๐ บาท ได้ส่งไฟล์สรุปงานค่ายมาให้ ทำเป็นวีดีโอ ดูแล้วเกิดปีติ ขนลุกขนพอง ขนาดว่าไม่ได้ไปเอง ยังขนาดนี้ ถ้าได้ไปเอง คงได้อะไรดี ๆ เยอะ ใครไม่เคยออกค่าย คงต้องลองกันนะครับ สังคมเราต้องการ "จิตอาสา" อีกเยอะ ไม่เกริ่นอะไรมากกว่านี้ ดูวีดีโอที่ว่ากันดีกว่าครับ ( ไฟล์ผ่านการแปลงเพื่อให้เล็กลง คุณภาพคงไม่ค่อยดีเท่ากับต้นฉบับ แต่ก็ดูดีเหมือนกันครับ )







นอกจากวีดีโอแล้ว ยังมีสรุปมาเป็นเรื่องราวให้อ่านกันสนุก ๆ อีกด้วย ลองอ่านกันครับ

ขอบรรยายเป็นภาษาพูดตั้งแต่แรกจนถึงวันสุดท้ายเลยนะครับ(ขอแบบไม่เป็นทางการซักหน่อยนะครับ)

              เริ่มจากการเดินทาง เราได้ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม เพื่อไปเตรียมค่ายโดยครั้งนี้มีคนไปเตรียมค่ายเป็นจำนวน ๑๐ คน ซึ่งน้อยกว่าที่กำหนดไว้เนื่องจากบางส่วนยังติดสอบอยู่จึงมีคนไปเตรียมค่าย น้อย
ในส่วนที่ไปค่ายจริงซึ่งออกเดินทางในวันที่ ๒๘ ธันวาคม มีจำนวน ๒๗ คน ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เวลา ๐๙.๓๐ น. และแวะพักรับประทานอาหารกลางวันบริเวณที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ถึงหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยทรายเหลืองเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. และได้ขนของถ่ายใส่รถกระบะของชาวบ้านเพื่อขนของต่อไปยังศูนย์การเรียนรู้ จนเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. จึงถึงศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งก็เป็นเวลาค่ำพอสมควรแต่ก็ถือว่าไม่เกินเวลาที่กำหนดไว้มากนัก หลังจากนั้นได้รับประทานอาหาร เก็บสัมภาระ และทำพิธีเปิดค่าย รวมถึงแนะนำสถานที่และการปฏิบัติตนบนค่ายให้ลูกค่ายได้รับทราบด้วย



การดำรงชีวิตบน ค่ายเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ได้ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่ม เป็น ๗ กลุ่ม กลุ่มละ ๕-๖ คน นักศึกษาที่เข้าร่วมทั้งหมดเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๗ คน และตามมาสมทบอีก ๓ คนเนื่องจากมีธุระจึงไม่สามารถมาได้ในเวลาปกติ

              แต่ละกลุ่มได้อยู่ร่วมกันแยกเป็นบ้าน ซึ่งต้องไปนอนกันที่บ้านชาวบ้าน และต้องทำอาหารเองในมื้อเช้าและเย็น แต่ละบ้านก็จะมีการบริหารจัดการกันเองว่าใครจะทำอะไร และจะให้ใครนอนอย่างไร เพราะแต่ละบ้านได้คละชายและหญิง และคละชั้นปีด้วย

              ผลที่ได้ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจเพราะไม่มีปัญหา ใดเกิดขึ้นเลย มีเพียงระยะทางในการเดินทางมาทำงานค่อนข้างลำบาก คือ ห่างจากศูนย์ฯประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่หนทางเป็นลูกรังและลาดชันบ้างจึงลำบากโดยเฉพาะสำหรับเด็กในเมืองแต่ก็ เป็นการฝึกความอดทนไปในตัว ในวันหลังๆก็ไม่ค่อยมีใครบ่นเนื่องจากชินไปแล้ว

              การกินอยู่ของแต่ละบ้านไม่ค่อยลำบากเนื่องจาก บางบ้านชาวบ้านที่เราไปอาศัยอยู่ด้วยก็หุงข้าวไว้ให้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นน้ำใจเล็กๆน้อยที่นักศึกษามาทำประโยชน์ให้ ชาวบ้านจะตื่นนอนเช้ามากและมาหุงข้าวไว้ให้แล้วก็ออกไปทำงานบ้าง บางทีก็ไม่ค่อยมาพูดคุยกับนักศึกษาเพราะเขาพูดไทยไม่ค่อยได้ ได้แต่ยิ้มให้กัน แต่ก็ยังดีที่เขาฟังภาษาไทยได้บ้าง ภาษาเหนือได้บ้าง การใช้ชีวิตของชาวบ้านเป็นไปอย่างเรียบง่าย กับข้าวไม่ค่อยมีอะไรมากเขาจึงไม่ค่อยทานอาหารร่วมกับนักศึกษา ได้แต่หุงข้าวไว้ให้ นักศึกษาบางบ้านก็บอกเขาว่าไม่ต้องหุงให้เพราะเกรงใจบ้างก็มี

              มีนักศึกษาบางบ้านบอกว่าชาวบ้านดีใจมากที่มี นักศึกษามาอยู่ด้วย ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม คงเป็นเพราะเขาคิดถึงลูกหลานที่ไปเรียนในเมือง กลับมาบ้านทีหนึ่งก็นานๆครั้ง จึงรู้สึกดีที่มีเด็กๆมาอยู่ด้วยหลายๆคน นักศึกษาบ้านนั้นยังบอกอีกว่าชาวบ้านที่บ้านของเขาบอกว่า เขารู้สึกเหงาเวลาที่นักศึกษาออกไปทำงานที่โรงเรียน(ศูนย์การเรียนรู้ฯ)ซึ่ง มีระยะห่างจากบ้านเพียง ๑๐๐ เมตร แต่ก็รู้สึกสนุก(ม่วน)เวลานักศึกษาอยู่บ้าน

              เกิดการบริหารจัดการกันภายในบ้านเป็นอย่างดี มีการสัมพันธ์ระหว่างบ้านละแวกข้างเคียง เช่นการทานอาหารเย็นร่วมกันในวันที่เลิกงานเช้า นักศึกษาแต่ละบ้านก็จะนำอาหารที่ทำแต่ละบ้านมารับประทานร่วมกันบริเวณลาน บ้านหลังหนึ่ง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระว่างนักศึกษาด้วยกัน เกิดความอบอุ่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ชาวบ้านไม่ค่อยมาทานด้วยเพราะโดยวัฒนธรรมเขาค่อนข้างขี้อาย ได้แต่ยืนดูอยู่ข้างนอก บางคนก็เข้ามาทานด้วยบ้าง

              บางคนที่ทำอาหารไม่เป็นก็จะได้หัดทำเพราะใน บ้านได้แยกคนที่ทำอาหารเป็นจริงๆให้เพียงคนเดียว ดังนั้นคนที่ทำไม่เป็นจึงต้องช่วยทำจนบางคนทำเป็นก็มี

              โดยรวมแล้วถือว่าดี และเป็นที่พึงพอใจของทั้งนักศึกษาและชาวบ้านด้วย ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและนักศึกษา เกิดความรักความผูกพันทั้งระหว่างชาวบ้านและนักศึกษา

              มีเรื่องเล่าปิดท้ายกิจกรรมนี้อีก เรื่องคือ พี่คนหนึ่งชื่อภาษาไทยคือ พี่ตูน เป็นชาวบ้านที่ให้ความเป็นกันเองมาก มาช่วยงานนักศึกษาทุกวันตั้งแต่เตรียมค่าย และค่อนข้างจะสนิทกับนักศึกษามากที่สุดในบรรดาชาวบ้านทั้งหมด แต่วันสุดท้ายนักศึกษาบางส่วนได้รอพี่เขามาส่ง จนถึงเวลากลับก็ไม่เห็นพี่เขามา นักศึกษาที่อยู่บ้านเขาบอกว่าเขาบอกจะมาส่งแต่ก็ไม่เห็นมาคงเพราะกลัว ร้องไห้เวลานักศึกษากลับมั้ง แต่ทุกวันนี้ทุกคนยังเชื่อว่าพี่เขาคงกลัวทำใจไม่ได้เมื่อนักศึกษาที่อยู่ ร่วมกันมากว่าสิบวันกลับไป


๑.กิจกรรมสร้าง อาคาร


นักศึกษาและชาว บ้านได้ร่วมกันสร้างอาคารโรงอาหารอเนกประสงค์ขนาด๔ คูณ๑๒เมตร ซึ่งไม่ได้ขนาดตรงตามที่กำหนดไว้เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องไม้สำหรับทำโครง สร้าง ส่วนประกอบอื่นๆได้สร้างตามที่กำหนดไว้คือ ก่อผนังสูง ๑ เมตร และต่อด้วยไม้ระแนงตีโดยรอบ มีประตูหน้า-หลัง หลังคามุงสังกะสีเนื่องจากมีราคาถูกกว่าและขนส่งได้ง่ายกว่า พื้นเทคอนกรีตหนาประมาณ ๕ - ๗ ซม. พร้อมขัดมันพื้น

              ได้ทำป้ายชื่ออาคารโดยให้ชาวค่ายช่วยกันเสนอ และโหวตจนได้ชื่อ “อาคารอาสารัฐศาสตร์รวมใจ”และป้ายผู้สนับ สนุน แต่ยังไม่ได้ติดตั้งเพราะไม่ทันเวลาจึงได้มอบให้ชาวบ้านดำเนินการต่อ

              กิจกรรมสร้างอาคารทั้งหมดแล้วเสร็จประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงบางส่วนที่ทำไม่ทันคือตีไม้ระแนงจำนวนสี่ห้อง ติดป้ายผู้สนับสนุน และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ

              การสร้างอาคารในแต่ละวันจะมีชาวบ้านมาช่วยบ้าง บางวันที่มีงานเยอะเพราะทางค่ายอยากให้นักศึกษาได้ฝึกทำงานกันเอง โดยให้รุ่นพี่สอนรุ่นน้องซึ่งเป็นเจตนารมณ์หนึ่งที่ชมรมเราสืบทอดกันมา ผลงานที่ได้ถือว่าเป็นที่พึงพอใจในระดับหนึ่ง บางส่วนอาจจะไม่แล้วเสร็จตามเวลา แต่นักศึกษาก็ได้ตั้งใจทำกันทุกคน บางส่วนอาจจะดูไม่สวยแต่ก็เป็นผลงานที่นักศึกษาตั้งใจทำให้

              มีเด็กๆเล็กบ้าง โตบ้างมาช่วยทำอาคารด้วย โดยเด็กจะช่วยกันยกดิน หิน ทราย มาให้พี่ๆนักศึกษา เด็กสองคนก็ช่วยกันยกบุ้งกี๋อันหนึ่งบ้าง เป็นภาพความประทับใจหนึ่งของค่ายเลยทีเดียว



ปัญหาและอุปสรรค  การทำงานล่าช้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดเนื่องจากลูกค่ายมาทำงานสายบางส่วน และไม่มีไม้แบบสำหรับเทคานในวันแรกๆ

การ แก้ไขปัญหา  ยืมไม้แบบจากชาวบ้านโดยให้นักศึกษาไปช่วยขนในอีกหมู่บ้านซึ่งเป็นเขตจังหวัด แม่ฮ่องสอนเพื่อนำมาทำไม้แบบแต่กว่าจะได้ก็ประมาณบ่ายโมง

๒.กิจกรรมทำอาหาร โครงงานโภชนาการ

มีการแบ่งชาวค่ายเพื่อทำอาหารในแต่ละวัน วันละประมาณ ๑๐ คน มีหน้าที่ประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงชาวค่ายในมื้อกลางวัน ซึ่งบางคนก็ยังไม่เคยทำมาก่อนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเป็นไปในลักษณะ พี่สอนน้อง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องมากขึ้นด้วย

๓.กิจกรรมทำแปลงผักเพื่ออาหารกลางวัน โครงงานเกษตร

นักศึกษาได้แบ่งฝ่ายเกษตรเพื่อทำการขุดแปลงสำหรับปลูกผัก โดยได้ขุดในพื้นที่ที่ทางศูนย์ฯจัดไว้เป็นแปลงผักสวนครัวแต่ไม่ค่อยได้ใช้ ได้จัดให้นักศึกษาไปขุดแปลงสำหรับปลูกผักสวนครัวไว้ประมาณยี่สิบแปลง แต่ยังไม่ได้ทำการหว่านเมล็ดเนื่องจากดินยังไม่พร้อมสำหรับปลูก จึงได้แต่ขุดแปลงไว้และมอบเมล็ดพันธุ์ไว้ให้ครูประจำศูนย์ฯปลูกสำหรับใช้ เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็ก



๔.กิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่

              ทุกๆเช้าและช่วงเย็นของแต่ละวัน ฝ่ายสวัสดิการจะแบ่งงานกันให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ เช่นเก็บขยะที่เกิดจากการทิ้งของชาวค่าย ขยะที่เกิดจากการทำงานบ้าง ล้างห้องน้ำในศูนย์ฯ เพื่อให้พื้นที่ที่ทำงานสะอาดและไม่เกิดอันตรายในการทำงาน

              บางวันตอนเช้าๆนักศึกษาก็ต้องมาช่วยกันเก็บขยะ ที่บางทีไม่ได้ทิ้งเอง เพราะเก็บใส่ถังขยะแล้วแต่ไม่ได้มัดปากถุงทำให้หมูมาคุ้ยเรี่ยราด จนต้องเก็บใหม่อีกครั้ง บางทีก็เด็กๆก็มาช่วยเก็บบ้าง



ล้างจาน

              กิจกรรมนี้จริงๆควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่าย สวัสดิการ แต่เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และความสนุก จึงให้มีการจับฉลากสำหรับหาคนล้างจาน โดยจับระหว่างรับประทานอาหาร จึงต้องลุ้นไปกินไป บางคนได้ล้างจานก็กินไม่ลงบ้าง เป็นความสนุกเล็กๆน้อยๆของค่าย

              วันหนึ่งมีกลุ่ม หนึ่งทำธงประจำบ้านหาย(เรื่องธงจะเล่าอีกทีในกิจกรรมสันทนาการ)เพราะดูแลไม่ ดีจึงต้องถูกล้างจานไปอีกวันหนึ่ง



การบริการของว่าง และน้ำดื่ม

              เป็นหน้าที่ของฝ่ายสวัสดิการ ต้องบริการน้ำดื่มและของว่างให้แต่ละฝ่ายที่ทำงานในแต่ละวัน ทั้งในเวลาพักทำงาน และบางครั้งก็ต้องบริการในเวลาทำงานด้วย

๕. กิจกรรมขุดแปลงผักสวนครัว

              ฝ่ายเกษตรได้ทำการขึ้นแปลงเพื่อปลูกผักสวนครัวจำนวนสิบกว่าแปลง แต่ทำได้เพียงขุดแปลงไว้เท่านั้น ไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากต้องตากดินไว้ก่อน จึงได้ทำเพียงสองวันแรก และได้นำเมล็ดพันธุ์ผักมอบไว้ให้ครูประจำศูนย์ปลูกเพื่อเป็นอาหารกลางวัน เด็กๆในศูนย์การเรียนรู้ โดยได้แนะนำให้ครูปลูกผักประจำถิ่นเป็นหลักซึ่งจะได้ผลดีกว่าผักจากท้องที่ อื่น

              อีกส่วนคือการทำ รั้วล้อมบริเวณแปลงผัก เนื่องจากบริเวณแปลงผักมีรั้วอยู่แล้วจึงได้ช่วยกันซ่อมแซมรั้วบริเวณที่ ชำรุดเสียหายเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้ามากินหรือทำลายผัก

๖. กิจกรรมโครงงานส่งเสริมการศึกษา

              การสอนหนังสือเด็ก ในแต่ละวันฝ่ายส่งเสริมการศึกษาก็จะมีการสอนหนังสือและเล่นเกมกับเด็กๆ ในวันแรกๆเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะเด็กพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่ฟังได้ จึงสื่อสารกันลำบาก แต่หลังๆมาก็สนิทและคุ้นเคยกันจึงไม่ค่อยลำบาก สักเท่าไหร่ การสอนหนังสือส่วนใหญ่ก็จะให้เด็กวาดภาพ ระบายสี และร้องเพลง เด็กๆมีความสุข และสนุกมาก จนชอบเดินตามพี่ที่ไปสอนหนังสือ และมาช่วยทำงานทุกวัน พี่ๆส่วนใหญ่ก็ชอบเล่นกับน้องๆ และชอบให้เด็กๆสอนภาษาปกาเกอะญอ จนบางครั้งก็ถูกเด็กๆแกล้งบ้างก็มี

              การสอนเด็กแปรงฟันและอาบน้ำ

              ฝ่ายการศึกษามีกิจกรรมสอนน้องแปรงฟัน โดยแจกแปรงฟันและสอนวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง ซึ่งก็ลำบากพอสมควรเพราะคุยกันไม่รู้เรื่องจนต้องให้ครูมาดูแลและช่วยสอน และวันต่อมาก็ได้ให้พี่ๆนักศึกษาอาบน้ำให้น้องๆเพราะเด็กๆไม่ค่อยอาบน้ำ เนื้อตัวจะสกปรก จึงได้ให้นักศึกษาช่วยกันอาบน้ำให้เด็กๆ ผู้ปกครองซึ่งมักจะเป็นแม่ของเด็กๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่ ก็จะมายืนดูอยู่ด้วยจนอมยิ้มไปตามๆกัน เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ทาแป้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ โดยนำเสื้อผ้าที่ได้ขอรับบริจาคมาเปลี่ยนให้ มองดูแต่ละคนต่างมีความสุขทั้งนักศึกษา เด็ก และผู้ปกครอง

              การจัดทำสื่อการสอน

              มีการจัดทำสื่อการสอนจำนวนสิบชุด เป็นบอร์ดการเรียนรู้เพื่อมอบให้ใช้เป็นสื่อการสอนภายในศูนย์ฯโดยให้นัก ศึกษาช่วยกันตกแต่ง

๗. โครงงานสันทนาการ

              กิจกรรมสันทนาการ ในแต่ละวัน

              ในแต่ละวันจะมี ช่วงสันทนาการเวลาประมาณสองทุ่ม ซึ่งจัดเพื่อให้ลูกค่ายได้ผ่อนคลายจากการทำงานในแต่ละวัน โดยมีการเล่นเกม ซึ่งแต่ละวันเกมสุดท้ายจะเป็นเกมเปิดป้ายเพื่อให้แต่ละกลุ่มแต่ละบ้านได้รับ ของรางวัลที่เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารไป โดยแต่ละกลุ่มต้องใช้ความสามัคคีช่วยกันเล่นเกมและช่วยกันเลือกแผ่นป้าย เพื่อรับของรางวัล ช่วงนี้เป็นช่วงที่รอคอยของการเล่นเกมประจำวันเลย ทีเดียว

              กิจกรรมรอบกองไฟ

              จัดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ ๓๑ ธันวาคม มีการแสดงซูลูเปิดพิธีรอบกองไฟ เป็นการแสดงที่เรียกเสียงหัวเราะได้มาก แต่ก็มีส่วนที่น่าประทับใจคือ มีพี่ปีสี่ที่ไปค่ายมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งเป็นการอำลาการเป็นซูลูเพราะกำลังจะจบไปแล้ว ที่สำคัญไม่มีการบังคับแต่เป็นการแสดงที่ปีสี่ทำเองโดยไม่ได้เตรียมกับซูลู จริงๆ แต่ก็สำเร็จไปได้ด้วยดี

              หลังจากนั้นก็ เป็นการแสดงของน้องๆนักเรียนซึ่งสามารถดูได้ในวีดีทัศน์ครับ และต่อด้วยการแสดงของชาวบ้านที่มาร้องเพลงภาษาปกาเกอะญอให้ฟัง และจบด้วยการแสดง ของนักศึกษา

              ขอแทรกเรื่อง วัฒนธรรมของชาวบ้านนิดหนึ่งครับ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใช่ชนเผ่าดั้งเดิม วัฒนธรรมของหมู่บ้านจึงไม่ค่อยมีพิธีกรรมมากเท่ากับของพื้นที่ที่เป็นชนเผ่า ดั้งเดิมซึ่งรักษาไว้ได้ดีกว่า แต่ที่นี่ก็ยังคงมีแนววัฒนธรรมที่ยังผูกพันกับบรรพบุรุษเช่นกัน

              หลังจากนั้นก็เป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับ เด็กในหมู่บ้านโดยให้เด็กมาจับฉลากชื่อพี่ๆ หากได้พี่คนไหนก็พี่คนนั้นก็เอาของขวัญที่เตรียมมามอบให้น้อง ซึ่งก็ได้ครบทุกคน

           

              กิจกรรมเคาท์ดาวน์

              ได้จัดสถานที่เคาท์ดาวน์บริเวณเนินเขาหลัง ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการแลกของขวัญโดยใช้เชือกผูกของขวัญแล้วห้อยกับต้นไม้ เมื่อตัดเชือกแล้วของขวัญจะหล่นลงมาตรงกองฟางที่รองอยู่ แล้วให้เจ้าของมามอบให้ หลังจากนั้นจึงให้คนมอบตัดเชือกต่อ เป็นวิธีแลกที่ได้คิดกันเองในหมู่คนเตรียมค่าย ซึ่งไม่ค่อยมีใครทำกัน หลังจากแลกของขวัญเสร็จก็เป็นการเคาท์ดาวน์กันต่อท่ามกลางแสงจันทร์วันขึ้น สิบห้าค่ำ

              กิจกรรมสอนภาษา ปกาเกอะญอ

              มีการสอนภาษาปกา เกอะญอในเวลาพักตามที่กำหนดไว้ แต่ได้ทำเป็นบางวันเนื่องจากบางวันชาวบ้านที่สอนได้ก็ไม่ว่าง คือบางคนพูดได้แต่ขี้อายไม่กล้าสอน จึงมีบางคนที่สามารถสอนได้ นักศึกษาก็ได้คำศัพท์พื้นฐานไปพูดกัน เช่น สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ผู้หญิง ผู้ชาย ฯลฯ บางคำที่นักศึกษาอยากรู้ก็สามารถถามได้

              การประชุมสรุปงาน

              มีการประชุมสรุปงานประจำวันทุกๆวันหลังจาก การสันทนาการเสร็จเพื่อสรุปปัญหาที่เกิดในแต่ละวัน และเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากลูกค่าย มีการเสนอปัญหาและวิธีแก้ปัญหา หลังจากนั้นได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาในวันต่อไป

              หลังจากประชุมเสร็จก็มีการสวดมนต์ไหว้พระก่อน นอน และแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อเข้านอน

           
กิจกรรม เปิดใจ

              ได้จัดในคืนวัน ที่ ๒ มกราคม ซื่งเป็นคืนสุดท้าย ลูกค่ายทุกคนได้เข้ากิจกรรมนี้บริเวณโบสถ์ประจำหมู่บ้าน สาเหตุที่ใช้โบสถ์ก็เพราะการเปิดใจใช้เวลานาน หากใช้พื้นที่บริเวณสันทนาการจะทำให้น้ำค้างลง ส่งผลต่อสุขภาพชาวค่าย

              การเปิดใจได้ทำให้แต่ละคนได้พูดแสดงความรู้สึก ต่อการมาค่ายครั้งนี้ ทั้งดีและไม่ดีเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และยังเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปปรับ ปรุงต่อไป อีกส่วนหนึ่งยังเป็นการให้กำลังใจ การชื่นชม รวมถึงการเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของทุกคนเกี่ยวกับการมาออกค่ายครั้ง นี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะประทับใจกับการมาค่าย บอกว่าทางไกลและโหดมาก ได้ทำอาหารกินเองซึ่งไม่เคยทำมาก่อนก็มี ได้รู้จักพี่ รู้จักเพื่อน ได้ฝึกการทำงาน ฯลฯ

ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งสุดท้ายไปด้วย

              การถ่ายรูปร่วม กันและพิธีมอบอาคาร

              ได้มอบอาคารและ ถ่ายรูปในวันที่ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันกลับหลังจากที่เก็บของ และสัมภาระเสร็จ และทำความสะอาดพื้นที่ แล้วจึงมีการถ่ายรูปร่วมกัน ทั้งร่วมกับครู และชาวบ้าน ซึ่งมีชาวบ้านเพียงบางคนที่มาถ่ายด้วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ เพราะชาวบ้านค่อนข้างขี้อาย แต่ก็มาดูอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อส่งนักศึกษา

              ในส่วนของกิจกรรมบางกิจกรรมที่ไม่ได้ทำตามแผน สาเหตุก็เพราะความไม่พร้อม และไม่สะดวกบางประการ จึงมีการตกลงของคณะกรรมการว่าไม่ให้มีการจัดกิจกรรมนั้นเพื่อไม่ให้เป็น ปัญหาต่อไป



              กิจกรรมที่สรุปมาทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ได้จัด ทำขึ้นในระยะเวลาของการออกค่าย บางส่วนอาจจะอธิบายได้ยากและไม่ค่อยเข้าใจ ขอให้หลวงพี่ดูในรูปภาพและวีดีทัศน์ประกอบด้วยนะครับ และหากมีข้อสงสัยประการใดก็สามารถติดต่อมาได้ครับ ทั้งทางอีเมลล์ และทางโทรศัพท์ครับ



ปล.ปัจจัยที่หลวงพี่ให้การสนับสนุนได้นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมทั้ง หมดแต่บางส่วนไม่ได้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในตอนแรก และยังมีเหลืออยู่ประมาณ 2500 บาท จึงได้ทำการตกลงกันว่าจะนำไปให้น้องจัดค่ายวันเด็ก และตอนนี้ค่ายวันเด็กก็สำเร็จลุล่วงแล้ว สรุปว่าเงินที่ได้ให้ไปน้องที่จัดเขานำไปซื้อไอศกรีมแจกเด็กครับ


แบบเป็นทางการไปดูได้ที่ลิงก์นี้ http://docs.google.com/Doc?docid=0AZsKgkXi4P2hZGRrZnI1d3NfNjNmendjY2ZoYg&hl=th

ขออนุโมทนากับน้อง ๆ ชาวค่ายทุก ๆ คนครับ ขอให้บุญรักษา พระคุ้มครอง สาธุ

หลวงพี่โอ๊ท

บทความที่ได้รับความนิยม

กลับขึ้นบนสุด