วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ค่ายเศรษฐศาสตร์พัฒนาชุมชน มกค. ขอเอกสารเพิ่มด่วนครับ !!

ค่ายเศรษฐศาสตร์พัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่จะไปออกค่ายที่บ้านตลุกคูณพัฒนา จังหวัดชัยภูมิ

ขอไฟล์โครงการทั้งหมดที่ส่งมา เขียนใส่ซีดีมาด่วนเลยครับ และขอที่อยู่อีเมลของกรรมการค่าย และ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการด้วย

ด่วนนะครับ

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ค่ายอาสาพัฒนาท้องถิ่นเพื่อน้องกลางไพร สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.เลย ได้ทุนสนับสนุน ๒ หมื่นบาท

เป็นปีที่ ๒ แล้วที่กลุ่มจิตอาสาจากสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้ขอความสนับสนุนมายัง สายลมแห่งอาสา

ปีที่แล้วทำผลงานได้ดีทีเดียว ย้อนไปอ่านความรู้สึกของชาวค่ายเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ดู ก็ให้รู้สึกถึงความชื่นอกชื่นใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

ปีนี้ขอมาอีกก็ให้อีก ด้วยได้เครดิตจากค่ายรุ่นก่อนเลยให้เยอะกว่าค่ายอื่นๆ ในปีนี้ แต่ก็น้อยกว่าที่เคยให้ปีก่อนให้ไปแค่ ๒ หมื่น เพราะปีนี้เงินมีน้อยครับ มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก ตามกำลัง



ขอให้ประสบแต่ความสุขความเจริญ เสร็จกิจการงานดังประสงค์ทุกประการครับ

บุญรักษา

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่ายห้องสมุดพี่ให้น้อง ครั้งที่ ๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้รับทุนสนับสนุนค่ายอาสาพัฒนา ๑ หมื่นบาท

ค่ายห้องสมุดพี่ให้น้องครั้งที่ ๑ กลุ่มจิตอาสา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๒๐ - ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ ออกค่ายที่ ร.ร.บ้านวังรวก ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โครงการหลักของค่ายนี้คือการสร้างห้องสมุดขนาด ๗ x ๑๐.๕ เมตร ๑ หลัง พร้อมกิจกรรมอื่นๆ



โอนเงินสนับสนุนค่ายอาสาพัฒนาไปให้เรียบร้อยแล้ว


ขอให้ประสบความสำเร็จตามประสงค์ทุกประการ

บุญรักษาครับ

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่ายบำเพ็ญประโยชน์เปิดแสงแต้มสี ชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ม.รังสิต ได้รับทุนสนับสนุนค่ายบำเพ็ญประโยชน์ ๑ หมื่นบาท

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนาค่ายบำเพ็ญประโยชน์เปิดแสงแต้มสี โดยชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นค่ายแรกและค่ายเดียว ( ณ วันนี้ ) ที่ได้เดินทางมาส่งโครงการด้วยตนเอง

ค่ายนี้จะไปช่วยกันพัฒนาฝายกั้นน้ำ และร่วมกันจัดกระบวนการการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่โรงเรียนร่องกล้าวิทยา จ.พิษณุโลก วันที่ ๑๗ - ๒๓ ต.ค. ๕๓

โครงการน่าสนใจทีเดียว เอกสารต่างๆ ก็ค่อนข้างสมบูรณ์




กิจกรรมค่ายเปิดแสงแต้มสี ม รังสิต 2553
View more presentations from mahaoath พระมหาโอ๊ท.

โอนเงินสนับสนุนให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



ขอให้ใช้ให้คุ้มค่า และประสบความสำเร็จทุกประการ

บุญรักษาครับ

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่ายนิติอาสาพัฒนาชนบท ม.อุบลราชธานี ได้รับทุนสนับสนุนค่ายอาสาพัฒนา ๕ พันบาท

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา"ค่ายอาสา เพื่อประชามีสุข เทิดไท้องค์ราชัน" เป็นชื่อใหม่ที่เป็นทางการของโครงการ "ค่ายนิติอาสาพัฒนาชนบท" ของ กลุ่มนักศึกษาวิชาสังคมวิทยาและการพัฒนาชนบท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ค่ายนี้จัดที่ ตำบลกุดเสลา อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เพือแก้ไขปัญหาเรื่องที่พักอาศัยของผู้พิการโดยเน้นการแก้ปัญหาแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน

2553 ให้ทุนค่ายนิติอาสาพัฒนาชนบท ม อุบลราชธานี
View more documents from mahaoath พระมหาโอ๊ท.

ได้ทำการโอนเงินสนับสนุนค่ายไปให้แล้วจำนวน ๕ พันบาทถ้วน


ขอให้ดำเนินการได้สำเร็จสมความมุ่งหมายทุกประการ

บุญรักษา

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่ายดอกหญ้าในป่าใหญ่ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ได้รับทุนสนับสนุนค่ายอาสาพัฒนา ๑ หมื่นบาท

ค่ายดอกหญ้าในป่าใหญ่ โดยชมรมอาสาพัฒนาและแนะแนวทางการศึกษา วิทยลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ได้รับทุนสนับสนุนค่ายอาสาพัฒนา จำนวน ๑ หมื่นบาท

โครงการของค่ายนี้ทำมาได้ดีมากครับ เอกสารก็ครบถ้วน มีรายละเอียดสมบูรณ์ดีทีเดียว สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการเขียนโครงการจิตอาสา หรือโครงการค่ายอาสาพัฒนาได้เลย ขอแสดงความชื่นชม


ได้ทำการโอนเงินสนับสนุนไปเรียบร้อยแล้ว


ขอให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการ

บุญรักษาครับ

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จดหมายถึงค่ายอาสาพัฒนาที่ได้รับทุน ตุลาคม ๒๕๕๓

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนาได้ส่งอีเมลถึงนักศึกษา ประธาน / ผู้รับผิดชอบโครงการค่ายอาสาพัฒนา ทั้ง ๔ ค่าย ( พร้อมสำเนาถึงอาจารย์ที่ปรึกษาค่าย ) ที่ได้รับทุนจากสายลมแห่งอาสา เพื่อขอคำยืนยันและขอคำมั่นสัญญา ก่อนที่จะโอนเงินสนับสนุนค่ายไปให้ สังเกตเห็นว่าส่วนมากใช้ hotmail ซึ่งช่วงนี้อาจจะมีปัญหา จึงนำเนื้อความในอีเมลมาแสดงไว้ที่นี่ด้วยดังนี้

เจริญพร นักศึกษา ( ประธาน / ผู้รับผิดชอบโครงการ )

โครงการค่ายอาสาพัฒนาของพวกคุณได้รับการพิจารณาแล้ว มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับการสนับสนุนจากโครงการสายลมแห่งอาสา เป็นจำนวนเงิน ... ( ดูรายละเอียดที่บล็อก http://fund4volunteer.blogspot.com/2010/10/blog-post.html ) ... 

เงื่อนไขในการรับทุนสนับสนุน
  1. ยืนยันการออกค่าย และเลขที่บัญชีธนาคาร ( ต้องเป็นบัญชีเดียวกับที่เคยส่งมาพร้อมโครงการ ) อีกครั้ง ก่อนวันออกเดินทางไม่น้อยกว่า ๘ วัน
  2. ให้คำมั่นว่าจะประชาสัมพันธ์ให้โครงการสายลมแห่งอาสาตามสมควร เช่น ระบุ "โครงการสายลมแห่งอาสา ( http://fund4volunteer.blogspot.com )" เป็นผู้ร่วมสนับสนุน บนป้ายประชาสัมพันธ์โครงการค่ายของตนเอง หรือด้วยวิธีอื่นที่เห็นสมควร
  3. ให้คำมั่นว่าหลังจากออกค่ายแล้ว จะส่งผลการดำเนินโครงการ ๒ รูปแบบ คือ ๑ แบบเป็นทางการ และ ๒ แบบไม่เป็นทางการเน้นความรู้สึก ความประทับใจของทั้งชาวค่าย และประชาชนในพื้นที่  พร้อมกับรูปถ่าย และ/หรือ ภาพยนต์ ตามสมควร
โดยให้ยืนยันและให้คำมั่นผ่านอีเมล ส่งมาที่ mahaoath@gmail.com

ขออนุโมทนาในความตั้งใจทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น และในจิตอาสาของทุกท่าน ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยจงอำนวยอวยชัย ให้การดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จดังมุ่งหมาย และขอให้ทุกๆ ท่านมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดกาลนานเทอญ

ขอเจริญพร
พระมหานัธนิติ  สุมโน ( หลวงพี่โอ๊ท )
___________________
http://mahaoath.com
ถือว่าเป็นการทำ MoU  ( Memorandum of Understanding ) ไปในตัวเลยทีเดียว

บุญรักษาครับ

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประกาศ ! โครงการสายลมแห่งอาสาให้ทุนค่ายอาสาพัฒนา กลางปี ๒๕๕๓ ทั้งหมด ๔ ค่าย จำนวนเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนาเดือนตุลาคมเป็นช่วงปิดภาคเรียนของสถาบันต่างๆ ดังนั้นนักจิตอาสาจึงพากันออกค่ายกันเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่ส่งโครงการมาขอทุนจากสายลมแห่งอาสา ก็นับได้ ๘ ค่ายด้วยกัน ใจจริงอยากให้ทุนทุกๆ ค่าย แต่ว่าคงไม่สามารถทำได้เนื่องจากหลายๆ ค่าย ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขเบื้องต้น คือการส่งเอกสารขอทุนให้ถูกต้องตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้ว

ถือโอกาสฤกษ์ดี วันที่ ๑ ตุลาคม วันขึ้นปีงบประมาณใหม่ของทางราชการ เป็นวันประกาศผลการพิจารณาให้ทุนค่ายอาสาของโครงการสายลมแห่งอาสา รอบกลางปี ๕๓ นี้มีโครงการส่งเข้ามาทั้งสิ้น ๘ โครงการได้แก่
  1. ค่ายห้องสมุดพี่ให้น้อง ครั้งที่ ๑ กลุ่มจิตอาสาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ค่ายดอกหญ้าในป่าใหญ่ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
  3. ค่ายโรงเรียนบ้านซำเจียง-ดงป่าเปลือย ชมรมอาสาพัฒนา พระนครเหนือ
  4. โครงการสร้างฝันแบ่งปันรอยยิ้ม สาขาวิชาระบบสารสนเทศ ( ราชมงคลรัตนโกสินทร์ )
  5. ค่ายโรงเรียนบ้านซับไทร ป.บัณฑิต ครุศาสตร์ จุฬาฯ 
  6. ค่ายเปิดแสงแต้มสี ชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ม.รังสิต
  7. ค่ายนิติอาสาพัฒนาชนบท คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  8. ค่ายสายฝนแห่งอาสา พัฒนาท้องถิ่น มรภ.ชัยภูมิ
หลังจากที่ได้พิจารณาแล้ว โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสายลมแห่งอาสาครั้งนี้ได้แก่
  • โครงการค่ายอาสาที่ได้รับทุนสนับสนุน ๑๐,๐๐๐.- ( หนึ่งหมื่นบาทถ้วน ) ๓ โครงการ
  1. ค่ายห้องสมุดพี่ให้น้อง ครั้งที่ ๑ กลุ่มจิตอาสาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ค่ายดอกหญ้าในป่าใหญ่ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
  3. ค่ายเปิดแสงแต้มสี ชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ม.รังสิต
  • โครงการค่ายอาสาที่ได้รับทุนสนับสนุน ๕,๐๐๐.- ( ห้าพันบาทถ้วน ) ๑ โครงการ
  1. ค่ายนิติอาสาพัฒนาชนบท คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
รวมทั้งหมด ๔ โครงการ ๔ ค่าย เป็นเงิน ๓๕,๐๐๐.- ( สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน ) เงินจะถูกโอนไปให้ทางบัญชีธนาคารที่ได้ส่งมาพร้อมกับโครงการ ก่อนออกค่ายประมาณ ๗ วัน

อย่าลืม ค่ายไหนโครงการไหนที่ได้รับทุน หลังจากจบค่ายแล้ว ต้องส่งสรุปผลการดำเนินโครงการมาด้วย ๒ รูปแบบ คือ
  1. รายงานสรุปผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการ  ๑ ชุด
  2. รายงานแบบไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะความรู้สึก และความประทับใจในการออกค่ายของทั้งชาวค่ายเอง และประชาชนในพื้นที่
อนุญาตให้ส่งมาทางอีเมลได้ ต้องส่งนะครับ ถ้าไม่ส่งติด Black List จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับการพิจารณาทุนสนับสนุนในโอกาสต่อๆ ไป

ส่วนค่ายที่ไม่ได้ทุนนั้น มีเหตุผลหลักๆ ๒ ประการ
  1. เอกสารที่ส่งมาขอทุน เป็นเอกสารจากคณะ หรือจากกองกิจฯ ไม่ใช่เอกสารจากนักศึกษา
  2. เอกสารไม่ครบ ขาดเอกสารที่สำคัญๆ ส่วนมาก
ลองทบทวนพิจารณาสิ่งที่ตนเองส่งมา แล้วจำไว้เป็นบทเรียนนะครับ และหากมีโอกาสจะนำตัวโครงการของค่ายที่ได้รับทุนมาให้ดูกันเป็นตัวอย่างต่อไป

บุญรักษาครับ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ประกาศความคืบหน้าการพิจารณาให้ทุนค่ายอาสา ณ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนาณ วันนี้ ( ๑๗ ก.ย. ๕๓ ) มีโครงการค่ายที่ส่งมาทั้งหมด ๕ ค่ายด้วยกัน อยากให้ทุนทั้งหมดทุกค่าย แต่ว่าต้องทำการพิจารณาก่อนเนื่องจากหลายๆ ค่ายเอกสารไม่ครบ หรือไม่ก็ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ จากการพิจารณาในเบื้องต้นได้ผลดังนี้

  1. ค่ายห้องสมุดพี่ให้น้อง ครั้งที่ ๑ กลุ่มจิตอาสาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เอกสารที่ขาด ๑.สำเนาบัตรนักศึกษาของผู้รับผิดชอบโครงการ ๒.บัญชีธนาคารที่ให้มาเป็นชื่อของบุคคลเดียว ผิดเงื่อนไข จัดการแก้ไขเพิ่มเติมซะครับ
  2. ค่ายดอกหญ้าในป่าใหญ่ ของวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ทำโครงการมาดี แต่ไม่ทราบจะติดต่อผู้รับผิดชอบโครงการอย่างไร ขออีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์ด้วยครับ
  3. ค่ายโรงเรียนบ้านซำเจียง-ดงป่าเปลือย ของชมรมอาสาพัฒนา พระนครเหนือ โครงการสับสนมากครับ ในโครงการระบุงบประมาณ ๒ หมื่นกว่าๆ แต่งบก่อสร้าง ๙ หมื่นกว่า เกือบแสน รวมทั้งเอกสารที่ขาดจำนวนมาก กรุณากลับไปดูรายละเอียดเอกสารในการขอทุนแล้วส่งมาใหม่ให้ครบถ้วนด้วย
  4. โครงการสร้างฝันแบ่งปันรอยยิ้ม ของสาขาวิชาระบบสารสนเทศ ( ราชมงคลรัตนโกสินทร์ ) ส่งมาแต่โครงการ แล้วหนังสือขอความอนุเคราะห์ทุนไปไหน ? สำเนาบัตรนักศึกษา สำเนาปกบัญชีธนาคาร ฯลฯ ไปไหน ?
  5. ค่ายโรงเรียนบ้านซับไทร ของ ป.บัณฑิต ครุศาสตร์ จุฬาฯ เอกสารขาดเยอะนะครับ ดูรายละเอียดแล้วส่งมาเพิ่มนะ
ทั้ง ๕ ค่ายล้วนเป็นโครงการที่ดี น่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าวัตถุประสงค์หลักของโครงการสายลมแห่งอาสา นอกจากสนับสนุนจิตอาสาของนักเรียน นิสิต นักศึกษาแล้ว ยังต้องการให้ทำงานเป็น ทำโครงการเป็น รู้จักอ่านกฎระเบียบ แล้วทำตามให้ถูกต้อง ดังนั้นแม้ว่าอยากให้ทุนทุกๆ ค่าย แต่ถ้าเอกสารไม่สมบูรณ์ ก็ต้องแก้ใขเพิ่มเติมให้เรียบร้อยเสียก่อน

ขอเงินคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่จะทำเล่นๆ อยากได้ต้องลงแรงแสดงฝีมือให้เห็นด้วย

บุญรักษาครับ

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ค่ายอาสา โครงการห้องสมุดพี่ให้น้องครั้งที่ ๑ กลุ่มจิตอาสา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา ได้รับเอกสารโครงการค่ายอาสาพัฒนามาอีก ๑ ค่าย คราวนี้เป็นค่ายของกลุ่มจิตอาสา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตั้งใจจะไปออกค่ายสร้างห้องสมุดให้โรงเรียนบ้านวังรวก ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๓

โครงการค่ายนี้ชื่อว่าโครงการ "ห้องสมุดพี่ให้น้อง ครั้งที่ ๑" นัยว่าคงต้องมีครั้งต่อๆ ไปอีก ดูจากโครงการอย่างคร่าวๆ แล้ว เห็นมีการสวดมนต์ก่อนนอน มีการทำบุญเลี้ยงพระเพลด้วย เป็นการส่งเสริมให้ชาวค่ายได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป นับว่าน่ายกย่องและสนับสนุนยิ่งนัก แต่ก็ยังมีรายละเอียดอีกหลายๆ ประการที่ต้องพิจารณาอีก ผลเป็นอย่างไรนั้นจะประกาศให้ทราบทั่วกันโดยจะมา edit ต่อท้ายเอนทรี่ (บทความ) นี้อีกครั้งหลังจากพิจารณาเรียบร้อยแล้ว


วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บรรยายพิเศษ "การออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตอาสา"

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนารับนิมนต์จาก อ.ดร.ภควดี  สุขอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ให้ไปบรรยายพิเศษหัวข้อ "การออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตอาสา" ให้นักศึกษาระดับปริญญาโท คม.(การจัดการการเรียนรู้) ในวิชาการออกแบบและการจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาพหุปัญญา โดยเป็นการบรรยายร่วมกับ อ.ดร.มนตรา  เลี่ยวเส็ง กัลยาณมิตรที่ร่วมกันออกแบบโครงการอบรม "การจัดการโครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ" แน่นอนว่าการบรรยายครั้งนี้คงไม่ได้เป็นการบรรยายเฉยๆ แต่คงต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้รับประโยชน์กันอย่างเต็มที่

ขอนำเอกสารประกอบการบรรยายบางส่วนมาไว้ที่นี่เพื่อเป็นวิทยาทาน เริ่มด้วยเอกสารแนะนำโครงการสายลมแห่งอาสา

สายลมแห่งอาสา

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วีดีโอนำเสนอจากการอบรมการจัดการโครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนาสืบเนื่องจากที่ได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมการจัดการโครงการจิตอาสา เพื่อพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำให้กับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา แผนกช่างไฟฟ้ากำลัง และนักเรียนจากโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี) เข้าร่วมเรียนรู้ด้วยนั้น

น้องๆ นักศึกษาได้ทำวีดีโอนำเสนอขึ้น ๒ ชุด

ชุดแรกฉายให้ดูกันเองในกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม เพื่อประมวลกิจกรรมที่ผ่านมา และประเมินความคืบหน้าของโครงการจิตอาสาที่พวกตนได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ



ชุดที่ ๒ เป็นชุดที่ฉายให้คณะกรรมการดู เป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดผลการดำเนินโครงการจิตอาสา ที่นักศึกษาได้ออกแบบให้ประเมินผลด้วย "รอยยิ้ม" ของประชาชนที่ผ่านไปมา และแวะเวียนใช้บริการจุดบริการนักท่องเที่ยวของนักศึกษา



แถมท้ายด้วยวีดีโอที่หลวงพี่โอ๊ททำขึ้นเพื่อประมวลภาพกิจกรรมทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นการอบรมในภาคทฤษฎี จนจบโครงการของนักศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ผลงานจากค่ายอาสาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ม.เทคโนโลยีมหานคร


ค่าย "สืบสานวัฒนธรรม ลำนำถิ่นไทย สู่อ้อมใจชาวอีสาน" ของน้องๆ ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทางค่ายได้ส่งรายงานผลการดำเนินงานมาให้แล้วพร้อมทั้งเอกสาร พร้อมทั้งไฟล์วีดีโอ ดูวีดีโอกันก่อนแล้วค่อยไปดูเอกสารกันครับ





ส่วนเอกสารรายงานการประเมินผลการดำเนินการปฏิบัติงานก็นี่เลยครับ


ขออนุโมทนากับชาวค่ายทุกๆ คนครับ หวังว่าคงจะจัดโครงการดีๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ

บุญรักษา

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการโครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ



การอบรมที่ได้เขียนรายละเอียดไว้คร่าวๆ ในเอนทรี่ก่อนหน้านี้ ผ่านวันแรกในภาคปริยัติไปด้วยดี เอนทรี่นี้แปะรูปให้ดูก่อน คงจะเขียนสรุปไว้ทีเดียวในเว็บไซต์วัดใหญ่ชัยมงคล

ขออนุโมทนาขอบใจ อ.ดร.มนตรา เลี่ยวเส็ง กัลยาณมิตรที่มาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้

บุญรักษาครับ

*อ.ดร.มนตรา ได้บันทึกเรื่องราวกิจกรรมวันแรกไว้ที่บล็อกของเธอด้วย ไปอ่านได้ที่ Montra's Blog

ได้ขอ อ.มนตรานำสไลด์มาแสดงไว้ที่นี้ด้วย



วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตรียมการจัดอบรมให้นักกิจกรรมจาก มรภ.พระนครศรีอยุธยา

วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการทำโครงการสายลมแห่งอาสานี้ คือต้องการให้นักกิจกรรม และชาวค่ายได้เรียนรู้ในเรื่องของการจัดการโครงการ ตั้งแต่การคิด การเขียน การนำเสนอ การดำเนินการ การบริหาร และการประเมินผลโครงการ ซึ่งต่อไปในอนาคตเมื่อเรียนจบกันแล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงานไม่ว่าเป็นงานราชการ เอกชน หรืองานส่วนตัว

หลังจากที่คุยกับคณบดี และรองกิจฯ ของ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาในเรื่องดังกล่าวได้ไม่กี่วัน อ.ดร.สุภัทรา รองกิจฯ ได้นิมนต์ให้ช่วยออกแบบกิจกรรมสำหรับเสริมศักยภาพของนักศึกษาที่เป็นกรรมการสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ได้รับประโยชน์ใน ๓ ด้านด้วยกัน ได้แก่

  • การจัดการโครงการ
  • จิตอาสา
  • ภาวะความเป็นผู้นำ
ด้วยความช่วยเหลือจากกัลยาณมิตรคนสำคัญ คือ อ.ดร.มนตรา  เลี่ยวเส็ง จากสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ทำให้กิจกรรมนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายในเวลา ๑ คืนเท่านั้น

กิจกรรมนี้ถูกออกแบบให้แบ่งออกเป็น ๓ ช่วงคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ตามหลักของการศึกษาทางพระพุทธศาสนา โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมทั้งสิ้น ๘ วัน

วันแรก ช่วงเช้าให้นักศึกษาได้สำรวจพื้นที่ในอาณาเขต ๒๐๐ ไร่ของวัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อเป็นข้อมูล จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการบรรยาย ( ปริยัติ ) ในหัวข้อการจัดการโครงการ โดย อ.ดร.มนตรา และการบรรยายเรื่องจิตอาสาพร้อมกับแนะนำกิจกรรมจากพระมหาโอ๊ท

วันที่ ๒ ถึงวันที่ ๖ ของกิจกรรม ( ปฏิบัติ ) เป็นระยะเวลาให้นักศึกษา ๒๕ คน แบ่งกลุ่มกัน ๕ กลุ่ม แยกย้ายกันไปคิด เขียน และเตรียมการนำเสนอโครงการที่จะทำในพื้นที่วัดใหญ่ชัยมงคล ตามเงื่อนไขคือ

  • ประหยัด
  • ประโยชน์
  • ยั่งยืน
  • ชื่นใจ
วันที่ ๗ ของกิจกรรม ( ปฏิบัติ ) ช่วงเช้าเป็นเวลานำเสนอโครงการของนักศึกษาแต่ละกลุ่ม โดยมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้แนะนำและตัดสินโครงการที่จะได้รับเลือก ๓ จาก ๕ โครงการ โดยกรรมการอาจจะประกอบด้วย

  • อ.ดร.สุภัทรา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มรภ.พระนครศรีอยุธยา
  • พระมหาโอ๊ท วัดใหญ่ชัยมงคล
  • อ.ดร.มนตรา  เลี่ยวเส็ง ผู้เชี่ยวชาญาการจัดการโครงการ
  • ผอ.จุฑามาศ  รอดภัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี)
  • ครูดวงใจ  สุภาพึ่ง วิทยาลัยเทคนิกพระนครศรีอยุธยา ,สถาบันกรุงเก่าเพื่อการพัฒนา
  • ตัวแทนจากภาคเอกชน ( NGO )
  • ตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน
ช่วงบ่ายเป็นต้นไปเป็นเวลาให้ปฏิบัติโครงการ โดยผู้ที่ได้ทำโครงการต้องเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ตลอดจนอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิกพระนครศรีอยุธยา และนักเรียนจากโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคลเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการของตนให้ได้

วันสุดท้ายของกิจกรรม ช่วงเช้าปฏิบัติโครงการของตนต่อ ช่วงบ่าย ( ปฏิเวธ ) ให้ประเมินผลการดำเนินโครงการของตนเอง และของเพื่อนๆ จากนั้นกรรมการจะประเมินโครงการทั้งหมด เสร็จแล้วจัดให้มีการสะท้อนความรู้จากการร่วมกิจกรรม และการปฏิบัติโครงการของตนเอง ก่อนที่จะมีการประกาศผลการประเมินโครงการ และมอบของรางวัลให้โครงการที่ชนะเลิศ

ภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดมีเท่านี้ แล้วจะรายงานความคืบหน้าอีกครั้ง

บุญรักษา

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ให้ทุนค่ายชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ม.เทคโนโลยีมหานคร [ควันหลง]


ค่ายนี้เป็นค่ายควันหลง คือส่งโครงการมาหลังจากที่ได้ประกาศปิดรับโครงการเป็นการชั่วคราวไปนานแล้ว ขอทุนมาทั้งหมด ๓ หมื่นบาท แต่ให้ทุนไปแค่ ๕ พันบาท

ต้องยอมรับว่าค่ายนี้น้อง ๆ คิดโครงการมาได้ดีมาก ๆ มีทั้งการพัฒนา และการร่วมศึกษาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนมีกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา อยากให้เต็ม ๓ หมื่น อย่างที่ขอมา แต่ต้องตัดใจให้แค่นี้ เพราะส่งมานอกเวลา เรียกว่าผิดกฎเกณฑ์ก็ได้ ภาพด้านล่างคือหลักฐานการโอนเงินสนับสนุนทุนในการออกค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้ เป็นจำนวน ๕ พันบาทถ้วน


อยากให้น้อง ๆ ชาวค่ายอาสา ได้ศึกษาโครงการของค่ายนี้ดู เพื่อเป็นแนวทางในการทำค่าย และเป็นแนวทางในการเขียนโครงการเพื่อขอทุน แม้จะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีครับ

สืบสานวัฒนธรรม ลำนำถิ่นไทย สู่อ้อมใจชาวอีสาน

ความรู้สึกของชาวค่ายเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ มรภ.เลย ที่ได้รับทุนทำค่ายอาสาจากสายลมแห่งอาสา


หลังจากเอนทรี่ หรือบทความที่ผ่านมาเป็นรายงานผลงาน และความรู้สึกของค่ายสร้าง รัฐศาสตร์ ฯ มช. คราวนี้ขอนำเสนอความรู้สึกของน้อง ๆ ( หรือหลาน ? ) ชาวค่ายเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

ค่ายนี้เป็นค่าย ๆ เล็ก ๆ ไม่ใหญ่ไม่โต ทั้งโครงการสิ้นงบประมาณไปไม่ถึง ๓๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น โดยสายลมแห่งอาสา เราได้ให้ทุนสนับสนุนค่ายนี้ไป ๓๐,๐๐๐.- บาทถ้วย ถือเป็นการประเดิมด้วย เพราะเป็นค่ายแรกเลยที่ส่งโครงการเข้ามาขอทุน ลองมาดูความคิดเห็น และความประทับใจของชาวค่าย และชุมชนว่ามีความประทับใจในการออกค่ายครั้งนี้อย่างไรบ้าง



นางสาวอรุณี  วัฒนราช   สมาชิกค่ายอาสา สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ชั้นปีที่ 2
มีความรู้สึกกับค่ายนี้ว่า

“ตอนแรกนะไม่อยากไปหรอกค่าย รู้สึกว่ามันเหนื่อย (เพราะไปค่ายที่ไรเหนื่อยทุกที)  แต่พอเห็นอาจารย์จิ๊บ ที่ต้องทำงานแทนนักศึกษา ก็มีความคิดใหม่ขึ้นมาเลย ยังไงก็ต้องไปเข้าค่าย ต้องทำให้อาจารย์สบายใจ  แล้วก็หายเหนื่อย  อะไรที่พอช่วยอาจารย์ได้ ก็จะช่วยทำ แล้วยังมารู้ทีหลังว่า นักศึกษาต้องเขียนโครงการที่จะออกค่ายเองเท่านั้นแหละ ปวดหัวเลย ไม่มีใครเขียนโครงการ ที่แรกก็เข้าใจว่าอาจารย์ต้องเขียน พอเอาเข้าจริงๆ ดันกลายเป็นนักศึกษาซะงั้น เข้าใจผิดอยู่ตั้งนาน  คิดว่าจะสบายซะอีก ก็รอดูอยู่ว่าใครจะเป็นคนเขียน ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครเป็นคนเขียนเลย ประธานค่ายคนเดิมนะ ก็บอกแต่ว่าไปดูมาแล้ว โครงการก็เขียนแล้ว แต่ก็ไม่เห็นผลงานเลย เอาละทนไม่ไหวแล้ว ถ้าเราไม่ทำใครจำเป็นคนทำ” หลังจากนั้น ประมาณสองวัน ก็เลยชวนเพื่อนๆ “เพื่อน เราเขียนโครงการออกค่ายกันเหอะ ถ้าเราไม่เขียน มันก็จะไม่เสร็จนะ”เท่านั้นแหละ ไม่รอช้า พากันรีบเร่งเลย  (เหนื่อยมากๆ)
จากนั้น อาจารย์จิ๊บก็มาบอกว่า “หลวงพี่โอ๊ต ท่านแจกทุนทำค่ายนะเท่านั้นแหละ   ก็ไม่รู้ว่าทำเรื่องขอทุนไป ท่านจะให้ทุนกับค่ายเราหรือป่าว  แต่สุดท้ายก็ส่งไป ก็ยังรอลุ้นอยู่ว่าจะได้หรือป่าว (ภาวนาว่าขอให้ท่านอนุมัติทุนให้) รออยู่หลายวันเหมือนกันกว่าจะได้รู้ผล แต่ผลก็ยังไม่รู้สะที  หลวงพี่ท่านก็ส่งคำถามมาให้ตอบ (แบบว่าก็ตอบไปนะ แต่ไม่รู้จะใช้คำพูดกับหลวงพี่ยังไง  ส่งผิดส่งถูก อายหลวงพี่จังเลย)  อาจารย์จิ๊บก็บอกว่าเล่นอะไรอะ อะไรเตอร์ๆ วิสเตอร์ ทวิสเตอร์อะไรนั้นนะกับหลวงพี่ ดิฉันก็ไม่รู้อะ นั้นแหละอาจารย์จิ๊บท่านเลยบอกว่าหลวงพี่ท่านส่งเมลล์มาให้เบนต์นะ ให้เบนต์ตอบคำถามท่านไป  (พอดีวันนั้นไปเปิดดูเมลล์พอดี ว่าจะโทรถามอาจารย์จิ๊บเหมือนกัน แต่อาจารย์เหมือนรู้ใจ โทรมาหาเราก่อน เหมือนรู้ว่าเรากำลังมีเรื่องจะปรึกษาเลย) ก็เลยส่งเมลล์กลับไปหาหลวงพี่ สักประมาณสองวัน ก็เลยส่งกฎของค่ายตามไป(ไม่รู้เลยว่าท่านให้ทุนหรือป่าว ส่งไปก่อนเลย อิอิ)” ในระหว่างที่รอผลจากหลวงพี่  ไม่รอช้าชวนเพื่อนอีกสองคน ไปขอความอนุเคราะห์บริจาคน้ำดื่มจาก ส.ส. บ้าง ส.จ. บ้าง แล้วก็ไปขอจากนายก อบจ.ด้วย  (แต่ดันพิมพ์ชื่อนายก อบจ. ผิด เลยอดเลย) ต้องมาทำเรื่องเขียนหนังสือขอความอนุเคราะห์อีก (เป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก) แต่สุดท้ายก็ได้มาอย่างง่ายดาย น้ำดื่มเพียบ แต่ยังรอผลจากหลวงพี่โอ๊ตว่าจะได้หรือป่าว ถึงกลับต้องไปเดินขอรับบริจาค จากพี่ๆที่มาซ้อมรับปริญญา(เป็นอะไรที่น่าอายมากๆ แต่ก็ไม่อายหรอก ถือคติที่ว่า ถ้าด้านก็ไม่ได้ ถ้าอายก็อด ๕๕๕)สุดท้ายความฝันก็เป็นจริง หลวงพี่ส่งเมลล์มาบอกว่าจะโอนเงินมาให้อีกสามวันก่อนเข้าค่ายเท่านั้นแหละเอ๋ย ความดีใจก็บังเกิดเลย ทำอะไรไม่ถูก ได้ออกค่ายแล้วดีใจจัง
พอถึงวันไปค่าย “ตื่นเต้นมากๆ นอนตั้งแต่ ๑ ทุ่ม (ทั้งๆที่นอนแต่ละครั้งนะนอน ตี ๒ โน้น) ตื่นเช้ามาด้วยความตื่นเต้น ออกไปรอเพื่อนตั้งแต่ตีห้าครึ่ง พอถามเพื่อนนะ เพื่อนบอกว่ารถออก ๖ โมงครึ่ง (โฮ้ รอนานมากกว่าจะได้ไป)” บรรยากาศบนรถ แบบว่า “นั่งรถจนเป็นตะคริว ขานี้ชาสุดๆ นั่งรถเกือบสามชั่วโมงได้กว่าจะถึง บนรถมีความสนุกสนานมากๆ หนทางนี้สุดยอด เลี้ยวกันกันเป็นว่าเล่น เดี๋ยวก็ขึ้นเขา เดี๋ยวก็ลงเนิน ใจหายใจคว่ำหมด  พอถึงเท่านั้นแหระก็เริ่มงานกันเลย แต่ละคนก็ต่างทำหน้าที่ของตนเองได้ดีมาก ตกเย็นก็พากันสวดมนต์ ไหว้พระก่อนนอน นอนหลับสบายเลย”
พอวันที่สอง “ตื่นแต่เช้า มาออกกำลังกาย พอบ่ายก็พากันแข่งกีฬา สานความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ดิฉันกลับเพื่อนสามคน ก็พากันนั่งทำพานบายศรี ตอนแรกก็คิดว่าจะไปเป็นลูกมือ แต่ไหนกลับกัน คนที่ไปทำดันกลับมาเป็นลูกมือดิฉันซะงั้น ภูมิใจจังได้นั่งทำพานบายศรี ไม่คิดว่าจะทำเป็น(สวยด้วยนะ ๕๕๕) ตกเย็นมาก็มีพราหมณ์มาทำการบายศรีสู่ขวัญให้ชาวค่าย รู้สึกอุ่นใจจัง ที่ชาวบ้านเค้ารักเราเหมือนลูกเหมือนหลานเลย แล้วก็ทานข้าวด้วยกัน สักหน่อยน้องๆที่โรงเรียนก็แบบว่า มารำให้เราดูเป็นการต้อนรับ แล้วก็เป็นธรรมเนียมที่ต้องมีการเปิดใจชาวค่าย พอเสร็จสิ้นทุกอย่างแล้ว เราก็สวดมนต์ไหว้พระ แล้วก็นอนหลับพักผ่อน”
พอถึงวันที่สาม “ดิฉันตื่นแต่เช้า มาช่วยพี่ประธานค่ายเก็บขยะ น้องๆที่โรงเรียนมาหาพี่ๆกันแต่เช้ามากๆเลย ตอนแรกนะตามกำหนดการจะได้กลับกันประมาณ สี่โมงเช้า แต่ผิดคิวเล็กน้อย ได้กลับเกือบบ่ายสองแน่ะ ถึงบ้านก็ ๖ โมงเย็น” ยังก็ขอบอกว่าเหนื่อยมากๆ แต่ก็รู้สึกว่า ค่ายนี้สนุกมากถึงมากที่สุดเลย ผิดกลับตอนแรกที่ไม่อยากไปนะ ถ้ากลับมาถามใหม่นะ ไม่ไปอะเสียดายมากๆ (ขอบอก)
ท้ายสุดนี้นะ ขอกราบขอขอบพระคุณหลวงพี่โอ๊ตที่ให้เงินทุนสำหรับพวกเราได้มาทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ และขอขอบพระคุณทุกๆท่านที่ให้การสนับสนุนกับทางค่ายเราเป็นอย่างดี


นางสาวบังอร แสนหนองจอก สมาชิกค่ายอาสา สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 1
มีความรู้สึกกับค่ายนี้ว่า

 “ดีใจมากๆเลยนะ  อยากมามากๆ ตอนแรกที่มาก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง กลัวเข้ากับเพื่อนๆพี่ ไม่ได้  พอถึงวันจริงๆนะ อาจารย์นัด ๖ โมง เช้า น้องมาตั้งแต่ ตี๕ เลย  ก็นึกว่าจะไม่ไปกันแล้ว ก็ไม่เห็นใครมากันเลย รอจน ๖ โมง ถึงมีเพื่อนๆมา” น้องเค้ายังบอกอีกว่า “การเดินทางของเรา เป็นอะไรที่สนุกมากๆ เราไม่มีการแบบว่าหลับเลย (หลับไม่ลงอะ)เพราะเรานั่งท้ายรถ (เสียวอย่างแรง มากๆๆๆ)นั่งรถมาสุดยอด(ทางนี้แบบว่า โอ้โห เวรี่ไกล)ขนาดเปลี่ยนท่านั่งนะตั้งสามรอบ ยังไม่มีการว่าจะถึงจุดหมายอีก(มันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก) ซ้ำเพื่อนนะ อยู่ดีไม่ว่าดี ดันเอาขาเท่าช้าง(อิอิ)ไปติดกะเหล็ก ไม่รู้เหล็กเขาไปทำอะไรให้ เกิดอาการแบบว่า หัวเราะจนกรามค้างกันไปเป็นแถบๆเลย” ยังมีต่ออีก “โฮ้ กว่าจะมาถึงก็ทำเอาเมารถกันซะ ทางก็แบบว่า ทำเอาเราหัวแดงกันไปทั้งคันรถเลย (ฝุ่นเต็มเลย) แต่พอมาเห็นน้องๆนะ ชื่นใจมากๆ หายเหนื่อยเลย แล้วก็เริ่มเข้ากับเพื่อนๆกละพี่ๆได้ สนุกมากๆ พวกเราเรียนครูใช่ปะ ก็คิดว่าอีกประมาณสักสามปี ถึงจะได้ฝึกประสบการณ์ แต่มาค่ายนี้ เหมือนว่าได้ฝึกประสบการณ์การเป็นครูก่อนหน้าใครๆเลย ไม่คิดเลยว่าจะสนุกขนาดนี้ น้องๆน่ารักมากๆเดินตามก้นกันเป็นขบวนเลย” เดี๋ยวยังไม่จบ ขอพูดอีกนิดหนึ่ง “ดีใจมากๆเลย ปีหน้าถ้ามีค่ายอีกนะ อย่าลืมชวนหนูกะเพื่อนๆอีกนะ เต็มใจมากๆเลย และยังไงก็ต้องขอบอกพี่เลย ว่าพวกหนูต้องมากับพวกพี่ๆอีกให้ได้”


นางสาวอติพร  ศรีทอง สมาชิกค่ายอาสา สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ชั้นปีที่ 1
มีความรู้สึกกับค่ายนี้ว่า

 “หนูว่าค่ายนี้มันสนุกดี ได้ทำกิจกรรมกับน้องๆ ดีใจที่ได้เห็นน้องๆ ที่อาศัยอยู่ในที่แบบว่า ทุรกันดาร เลย ก็ว่าได้ พวกหนูสามารถเอากิจกรรมต่างๆ ที่เคยได้เรียนมา นำมาประยุกต์ใช้กับน้องๆ มาถ่ายทอดให้กับน้องๆ” ยังมีต่ออีกนะ”น้องที่โรงเรียน ก็ยังมาถามหนูอยู่เลย ว่าพี่จะมาอีกไหม”หนูก็ตอบไป “ว่าพี่เองก็ไม่รู้ ใจพี่ก็อยากมา แต่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสหรือเปล่าไง”
น้องอติพรยังบอกอีกว่า “น้องๆที่โรงเรียนชอบพี่ๆทุกคนมากๆ เพราะว่าน้องๆไม่เคยมีกิจกรรมอย่างนี้ในโรงเรียนเลย น้องเค้าบอกอยากให้พี่ๆมาอีกจัง มาเที่ยวหาหนูก็ได้ หนูคิดถึงพี่ๆจังเลย”


ความรู้สึกของชาวบ้าน ที่มีต่อค่ายของเราในครั้งนี้

คุณแม่ดอกไม้ แก้มเหลี่ยม อาชีพทำไร่ข้าวโพด
มีความรู้สึกว่า

“แม่ดีใจที่ลูกๆมาค่ายในวันนี้ เพราะเด็กๆจะได้มีโรงครัวที่ดี ลูกๆที่มาเข้าค่ายก็นิสัยดี แม่มีความยินดีมากๆเลย และอยากให้ลูกๆได้มาพัฒนาหมู่บ้านนี้อีก”

คุณแม่สยาม  ตันตุลา   อาชีพทำไร่ข้าวโพด
มีความรู้สึกว่า

“ดีใจมากๆเลยจ๊า  อยากให้ลูกๆมาสร้างความเจริญแบบนี้อีก  น้องๆที่โรงเรียนก็จะได้มี ที่ที่สะดวกสบาย แล้วก็สะอาดด้วย”

คุณพี่อรัญญา   เนธิบุตร  อาชีพทำไร่ข้าวโพด
มีความรู้สึกว่า

“ดีใจ  ก็รู้สึกว่าพอใจที่พวกน้องๆได้มาปรับปรุงสภาพของโรงอาหารให้มีสภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม”


ความรู้สึกของอาจารย์โรงเรียนบ้านกกสะตี ที่มีต่อค่ายของเราในครั้งนี้

คุณครุสุภัสสรณ์  ติคำ  (คุณครูหลิน)อาจารย์ประจำโรงเรียนบ้านกกสะตี
มีความรู้สึกว่า

“รู้สึกยินดีที่น้องๆเห็นความสำคัญกับสถานที่ราชการที่เป็นโรงเรียน  และยังตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ  ได้นำความเจริญมาพัฒนา และเติมเต็มให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน  น้องๆทุกคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  น่ารักกันทุกคน  เข้ากับน้องๆนักเรียนได้ดี  กิจกรรมก็น่าสนใจ  อยากให้น้องๆนะ ถ้ามีโอกาสอยากให้น้องๆบอกเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัดอยากให้แนะนำให้เค้ารู้จัก  และเชิญชวนให้เค้ามาออกค่ายที่นี้ เพื่อที่จะมาสร้างในส่วนต่างๆที่ยังขาดเหลืออยู่  โครงการนี้นะควรมีการจัดต่อไปทุกๆปี  เพราะจะได้เป็นการสนับสนุนให้มีการส่งเสริมการเรียนการสอน  และทำให้ทุกคนมีความรู้ความสามารถและสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข”


นางสาวประกายแก้ว   พิมพ์เสนา (พี่หน่อย) ครูอัตราจ้างโรงเรียนบ้านกกสะตี
มีความรู้สึกว่า

“พี่ว่ามันเป็นกิจกรรมที่ดี  นักศึกษาเองก็ได้ฝึกประสบการณ์  ได้แลกเปลี่ยนความคิด และยังเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย  ได้สร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน  และยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กๆมีความกระตือรือร้น  มีความอยากรู้อยากรู้อยากเรียน และมีความสามัคคีในหมู่คณะ กิจกรรมนี้มีประโยชน์มากๆ พี่เห็นน้องๆมาเขาค่ายนะ พี่ก็คิดถึงเพื่อนสมัยเรียน ก็อยากให้น้องๆมีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  มีความสามัคคีกันให้มาก ๆ ให้รักกัน ไม่สร้างความวุ่นวายให้กับคนอื่น”

ส่วนใครอยากอ่าน หรือศึกษาการรายงานผลการออกค่ายอย่างเป็นทางการ เชิญอ่านได้ที่ รายงานผลการดำเนินโครงการค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พ.ศ. ๒๕๕๒

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ค่ายสร้างรัฐศาสตร์ มช. ส่งวีดีโอมา ดูแล้วขนลุก !!


น้อง ๆ จากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ทุนทำค่ายอาสาพัฒนา จากสายลมแห่งอาสา ไป ๒๐,๐๐๐ บาท ได้ส่งไฟล์สรุปงานค่ายมาให้ ทำเป็นวีดีโอ ดูแล้วเกิดปีติ ขนลุกขนพอง ขนาดว่าไม่ได้ไปเอง ยังขนาดนี้ ถ้าได้ไปเอง คงได้อะไรดี ๆ เยอะ ใครไม่เคยออกค่าย คงต้องลองกันนะครับ สังคมเราต้องการ "จิตอาสา" อีกเยอะ ไม่เกริ่นอะไรมากกว่านี้ ดูวีดีโอที่ว่ากันดีกว่าครับ ( ไฟล์ผ่านการแปลงเพื่อให้เล็กลง คุณภาพคงไม่ค่อยดีเท่ากับต้นฉบับ แต่ก็ดูดีเหมือนกันครับ )







นอกจากวีดีโอแล้ว ยังมีสรุปมาเป็นเรื่องราวให้อ่านกันสนุก ๆ อีกด้วย ลองอ่านกันครับ

ขอบรรยายเป็นภาษาพูดตั้งแต่แรกจนถึงวันสุดท้ายเลยนะครับ(ขอแบบไม่เป็นทางการซักหน่อยนะครับ)

              เริ่มจากการเดินทาง เราได้ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม เพื่อไปเตรียมค่ายโดยครั้งนี้มีคนไปเตรียมค่ายเป็นจำนวน ๑๐ คน ซึ่งน้อยกว่าที่กำหนดไว้เนื่องจากบางส่วนยังติดสอบอยู่จึงมีคนไปเตรียมค่าย น้อย
ในส่วนที่ไปค่ายจริงซึ่งออกเดินทางในวันที่ ๒๘ ธันวาคม มีจำนวน ๒๗ คน ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เวลา ๐๙.๓๐ น. และแวะพักรับประทานอาหารกลางวันบริเวณที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ถึงหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยทรายเหลืองเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. และได้ขนของถ่ายใส่รถกระบะของชาวบ้านเพื่อขนของต่อไปยังศูนย์การเรียนรู้ จนเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. จึงถึงศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งก็เป็นเวลาค่ำพอสมควรแต่ก็ถือว่าไม่เกินเวลาที่กำหนดไว้มากนัก หลังจากนั้นได้รับประทานอาหาร เก็บสัมภาระ และทำพิธีเปิดค่าย รวมถึงแนะนำสถานที่และการปฏิบัติตนบนค่ายให้ลูกค่ายได้รับทราบด้วย



การดำรงชีวิตบน ค่ายเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ได้ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่ม เป็น ๗ กลุ่ม กลุ่มละ ๕-๖ คน นักศึกษาที่เข้าร่วมทั้งหมดเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๗ คน และตามมาสมทบอีก ๓ คนเนื่องจากมีธุระจึงไม่สามารถมาได้ในเวลาปกติ

              แต่ละกลุ่มได้อยู่ร่วมกันแยกเป็นบ้าน ซึ่งต้องไปนอนกันที่บ้านชาวบ้าน และต้องทำอาหารเองในมื้อเช้าและเย็น แต่ละบ้านก็จะมีการบริหารจัดการกันเองว่าใครจะทำอะไร และจะให้ใครนอนอย่างไร เพราะแต่ละบ้านได้คละชายและหญิง และคละชั้นปีด้วย

              ผลที่ได้ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจเพราะไม่มีปัญหา ใดเกิดขึ้นเลย มีเพียงระยะทางในการเดินทางมาทำงานค่อนข้างลำบาก คือ ห่างจากศูนย์ฯประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่หนทางเป็นลูกรังและลาดชันบ้างจึงลำบากโดยเฉพาะสำหรับเด็กในเมืองแต่ก็ เป็นการฝึกความอดทนไปในตัว ในวันหลังๆก็ไม่ค่อยมีใครบ่นเนื่องจากชินไปแล้ว

              การกินอยู่ของแต่ละบ้านไม่ค่อยลำบากเนื่องจาก บางบ้านชาวบ้านที่เราไปอาศัยอยู่ด้วยก็หุงข้าวไว้ให้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นน้ำใจเล็กๆน้อยที่นักศึกษามาทำประโยชน์ให้ ชาวบ้านจะตื่นนอนเช้ามากและมาหุงข้าวไว้ให้แล้วก็ออกไปทำงานบ้าง บางทีก็ไม่ค่อยมาพูดคุยกับนักศึกษาเพราะเขาพูดไทยไม่ค่อยได้ ได้แต่ยิ้มให้กัน แต่ก็ยังดีที่เขาฟังภาษาไทยได้บ้าง ภาษาเหนือได้บ้าง การใช้ชีวิตของชาวบ้านเป็นไปอย่างเรียบง่าย กับข้าวไม่ค่อยมีอะไรมากเขาจึงไม่ค่อยทานอาหารร่วมกับนักศึกษา ได้แต่หุงข้าวไว้ให้ นักศึกษาบางบ้านก็บอกเขาว่าไม่ต้องหุงให้เพราะเกรงใจบ้างก็มี

              มีนักศึกษาบางบ้านบอกว่าชาวบ้านดีใจมากที่มี นักศึกษามาอยู่ด้วย ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม คงเป็นเพราะเขาคิดถึงลูกหลานที่ไปเรียนในเมือง กลับมาบ้านทีหนึ่งก็นานๆครั้ง จึงรู้สึกดีที่มีเด็กๆมาอยู่ด้วยหลายๆคน นักศึกษาบ้านนั้นยังบอกอีกว่าชาวบ้านที่บ้านของเขาบอกว่า เขารู้สึกเหงาเวลาที่นักศึกษาออกไปทำงานที่โรงเรียน(ศูนย์การเรียนรู้ฯ)ซึ่ง มีระยะห่างจากบ้านเพียง ๑๐๐ เมตร แต่ก็รู้สึกสนุก(ม่วน)เวลานักศึกษาอยู่บ้าน

              เกิดการบริหารจัดการกันภายในบ้านเป็นอย่างดี มีการสัมพันธ์ระหว่างบ้านละแวกข้างเคียง เช่นการทานอาหารเย็นร่วมกันในวันที่เลิกงานเช้า นักศึกษาแต่ละบ้านก็จะนำอาหารที่ทำแต่ละบ้านมารับประทานร่วมกันบริเวณลาน บ้านหลังหนึ่ง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระว่างนักศึกษาด้วยกัน เกิดความอบอุ่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ชาวบ้านไม่ค่อยมาทานด้วยเพราะโดยวัฒนธรรมเขาค่อนข้างขี้อาย ได้แต่ยืนดูอยู่ข้างนอก บางคนก็เข้ามาทานด้วยบ้าง

              บางคนที่ทำอาหารไม่เป็นก็จะได้หัดทำเพราะใน บ้านได้แยกคนที่ทำอาหารเป็นจริงๆให้เพียงคนเดียว ดังนั้นคนที่ทำไม่เป็นจึงต้องช่วยทำจนบางคนทำเป็นก็มี

              โดยรวมแล้วถือว่าดี และเป็นที่พึงพอใจของทั้งนักศึกษาและชาวบ้านด้วย ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและนักศึกษา เกิดความรักความผูกพันทั้งระหว่างชาวบ้านและนักศึกษา

              มีเรื่องเล่าปิดท้ายกิจกรรมนี้อีก เรื่องคือ พี่คนหนึ่งชื่อภาษาไทยคือ พี่ตูน เป็นชาวบ้านที่ให้ความเป็นกันเองมาก มาช่วยงานนักศึกษาทุกวันตั้งแต่เตรียมค่าย และค่อนข้างจะสนิทกับนักศึกษามากที่สุดในบรรดาชาวบ้านทั้งหมด แต่วันสุดท้ายนักศึกษาบางส่วนได้รอพี่เขามาส่ง จนถึงเวลากลับก็ไม่เห็นพี่เขามา นักศึกษาที่อยู่บ้านเขาบอกว่าเขาบอกจะมาส่งแต่ก็ไม่เห็นมาคงเพราะกลัว ร้องไห้เวลานักศึกษากลับมั้ง แต่ทุกวันนี้ทุกคนยังเชื่อว่าพี่เขาคงกลัวทำใจไม่ได้เมื่อนักศึกษาที่อยู่ ร่วมกันมากว่าสิบวันกลับไป


๑.กิจกรรมสร้าง อาคาร


นักศึกษาและชาว บ้านได้ร่วมกันสร้างอาคารโรงอาหารอเนกประสงค์ขนาด๔ คูณ๑๒เมตร ซึ่งไม่ได้ขนาดตรงตามที่กำหนดไว้เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องไม้สำหรับทำโครง สร้าง ส่วนประกอบอื่นๆได้สร้างตามที่กำหนดไว้คือ ก่อผนังสูง ๑ เมตร และต่อด้วยไม้ระแนงตีโดยรอบ มีประตูหน้า-หลัง หลังคามุงสังกะสีเนื่องจากมีราคาถูกกว่าและขนส่งได้ง่ายกว่า พื้นเทคอนกรีตหนาประมาณ ๕ - ๗ ซม. พร้อมขัดมันพื้น

              ได้ทำป้ายชื่ออาคารโดยให้ชาวค่ายช่วยกันเสนอ และโหวตจนได้ชื่อ “อาคารอาสารัฐศาสตร์รวมใจ”และป้ายผู้สนับ สนุน แต่ยังไม่ได้ติดตั้งเพราะไม่ทันเวลาจึงได้มอบให้ชาวบ้านดำเนินการต่อ

              กิจกรรมสร้างอาคารทั้งหมดแล้วเสร็จประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงบางส่วนที่ทำไม่ทันคือตีไม้ระแนงจำนวนสี่ห้อง ติดป้ายผู้สนับสนุน และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ

              การสร้างอาคารในแต่ละวันจะมีชาวบ้านมาช่วยบ้าง บางวันที่มีงานเยอะเพราะทางค่ายอยากให้นักศึกษาได้ฝึกทำงานกันเอง โดยให้รุ่นพี่สอนรุ่นน้องซึ่งเป็นเจตนารมณ์หนึ่งที่ชมรมเราสืบทอดกันมา ผลงานที่ได้ถือว่าเป็นที่พึงพอใจในระดับหนึ่ง บางส่วนอาจจะไม่แล้วเสร็จตามเวลา แต่นักศึกษาก็ได้ตั้งใจทำกันทุกคน บางส่วนอาจจะดูไม่สวยแต่ก็เป็นผลงานที่นักศึกษาตั้งใจทำให้

              มีเด็กๆเล็กบ้าง โตบ้างมาช่วยทำอาคารด้วย โดยเด็กจะช่วยกันยกดิน หิน ทราย มาให้พี่ๆนักศึกษา เด็กสองคนก็ช่วยกันยกบุ้งกี๋อันหนึ่งบ้าง เป็นภาพความประทับใจหนึ่งของค่ายเลยทีเดียว



ปัญหาและอุปสรรค  การทำงานล่าช้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดเนื่องจากลูกค่ายมาทำงานสายบางส่วน และไม่มีไม้แบบสำหรับเทคานในวันแรกๆ

การ แก้ไขปัญหา  ยืมไม้แบบจากชาวบ้านโดยให้นักศึกษาไปช่วยขนในอีกหมู่บ้านซึ่งเป็นเขตจังหวัด แม่ฮ่องสอนเพื่อนำมาทำไม้แบบแต่กว่าจะได้ก็ประมาณบ่ายโมง

๒.กิจกรรมทำอาหาร โครงงานโภชนาการ

มีการแบ่งชาวค่ายเพื่อทำอาหารในแต่ละวัน วันละประมาณ ๑๐ คน มีหน้าที่ประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงชาวค่ายในมื้อกลางวัน ซึ่งบางคนก็ยังไม่เคยทำมาก่อนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเป็นไปในลักษณะ พี่สอนน้อง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องมากขึ้นด้วย

๓.กิจกรรมทำแปลงผักเพื่ออาหารกลางวัน โครงงานเกษตร

นักศึกษาได้แบ่งฝ่ายเกษตรเพื่อทำการขุดแปลงสำหรับปลูกผัก โดยได้ขุดในพื้นที่ที่ทางศูนย์ฯจัดไว้เป็นแปลงผักสวนครัวแต่ไม่ค่อยได้ใช้ ได้จัดให้นักศึกษาไปขุดแปลงสำหรับปลูกผักสวนครัวไว้ประมาณยี่สิบแปลง แต่ยังไม่ได้ทำการหว่านเมล็ดเนื่องจากดินยังไม่พร้อมสำหรับปลูก จึงได้แต่ขุดแปลงไว้และมอบเมล็ดพันธุ์ไว้ให้ครูประจำศูนย์ฯปลูกสำหรับใช้ เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็ก



๔.กิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่

              ทุกๆเช้าและช่วงเย็นของแต่ละวัน ฝ่ายสวัสดิการจะแบ่งงานกันให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ เช่นเก็บขยะที่เกิดจากการทิ้งของชาวค่าย ขยะที่เกิดจากการทำงานบ้าง ล้างห้องน้ำในศูนย์ฯ เพื่อให้พื้นที่ที่ทำงานสะอาดและไม่เกิดอันตรายในการทำงาน

              บางวันตอนเช้าๆนักศึกษาก็ต้องมาช่วยกันเก็บขยะ ที่บางทีไม่ได้ทิ้งเอง เพราะเก็บใส่ถังขยะแล้วแต่ไม่ได้มัดปากถุงทำให้หมูมาคุ้ยเรี่ยราด จนต้องเก็บใหม่อีกครั้ง บางทีก็เด็กๆก็มาช่วยเก็บบ้าง



ล้างจาน

              กิจกรรมนี้จริงๆควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่าย สวัสดิการ แต่เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และความสนุก จึงให้มีการจับฉลากสำหรับหาคนล้างจาน โดยจับระหว่างรับประทานอาหาร จึงต้องลุ้นไปกินไป บางคนได้ล้างจานก็กินไม่ลงบ้าง เป็นความสนุกเล็กๆน้อยๆของค่าย

              วันหนึ่งมีกลุ่ม หนึ่งทำธงประจำบ้านหาย(เรื่องธงจะเล่าอีกทีในกิจกรรมสันทนาการ)เพราะดูแลไม่ ดีจึงต้องถูกล้างจานไปอีกวันหนึ่ง



การบริการของว่าง และน้ำดื่ม

              เป็นหน้าที่ของฝ่ายสวัสดิการ ต้องบริการน้ำดื่มและของว่างให้แต่ละฝ่ายที่ทำงานในแต่ละวัน ทั้งในเวลาพักทำงาน และบางครั้งก็ต้องบริการในเวลาทำงานด้วย

๕. กิจกรรมขุดแปลงผักสวนครัว

              ฝ่ายเกษตรได้ทำการขึ้นแปลงเพื่อปลูกผักสวนครัวจำนวนสิบกว่าแปลง แต่ทำได้เพียงขุดแปลงไว้เท่านั้น ไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากต้องตากดินไว้ก่อน จึงได้ทำเพียงสองวันแรก และได้นำเมล็ดพันธุ์ผักมอบไว้ให้ครูประจำศูนย์ปลูกเพื่อเป็นอาหารกลางวัน เด็กๆในศูนย์การเรียนรู้ โดยได้แนะนำให้ครูปลูกผักประจำถิ่นเป็นหลักซึ่งจะได้ผลดีกว่าผักจากท้องที่ อื่น

              อีกส่วนคือการทำ รั้วล้อมบริเวณแปลงผัก เนื่องจากบริเวณแปลงผักมีรั้วอยู่แล้วจึงได้ช่วยกันซ่อมแซมรั้วบริเวณที่ ชำรุดเสียหายเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้ามากินหรือทำลายผัก

๖. กิจกรรมโครงงานส่งเสริมการศึกษา

              การสอนหนังสือเด็ก ในแต่ละวันฝ่ายส่งเสริมการศึกษาก็จะมีการสอนหนังสือและเล่นเกมกับเด็กๆ ในวันแรกๆเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะเด็กพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่ฟังได้ จึงสื่อสารกันลำบาก แต่หลังๆมาก็สนิทและคุ้นเคยกันจึงไม่ค่อยลำบาก สักเท่าไหร่ การสอนหนังสือส่วนใหญ่ก็จะให้เด็กวาดภาพ ระบายสี และร้องเพลง เด็กๆมีความสุข และสนุกมาก จนชอบเดินตามพี่ที่ไปสอนหนังสือ และมาช่วยทำงานทุกวัน พี่ๆส่วนใหญ่ก็ชอบเล่นกับน้องๆ และชอบให้เด็กๆสอนภาษาปกาเกอะญอ จนบางครั้งก็ถูกเด็กๆแกล้งบ้างก็มี

              การสอนเด็กแปรงฟันและอาบน้ำ

              ฝ่ายการศึกษามีกิจกรรมสอนน้องแปรงฟัน โดยแจกแปรงฟันและสอนวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง ซึ่งก็ลำบากพอสมควรเพราะคุยกันไม่รู้เรื่องจนต้องให้ครูมาดูแลและช่วยสอน และวันต่อมาก็ได้ให้พี่ๆนักศึกษาอาบน้ำให้น้องๆเพราะเด็กๆไม่ค่อยอาบน้ำ เนื้อตัวจะสกปรก จึงได้ให้นักศึกษาช่วยกันอาบน้ำให้เด็กๆ ผู้ปกครองซึ่งมักจะเป็นแม่ของเด็กๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่ ก็จะมายืนดูอยู่ด้วยจนอมยิ้มไปตามๆกัน เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ทาแป้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ โดยนำเสื้อผ้าที่ได้ขอรับบริจาคมาเปลี่ยนให้ มองดูแต่ละคนต่างมีความสุขทั้งนักศึกษา เด็ก และผู้ปกครอง

              การจัดทำสื่อการสอน

              มีการจัดทำสื่อการสอนจำนวนสิบชุด เป็นบอร์ดการเรียนรู้เพื่อมอบให้ใช้เป็นสื่อการสอนภายในศูนย์ฯโดยให้นัก ศึกษาช่วยกันตกแต่ง

๗. โครงงานสันทนาการ

              กิจกรรมสันทนาการ ในแต่ละวัน

              ในแต่ละวันจะมี ช่วงสันทนาการเวลาประมาณสองทุ่ม ซึ่งจัดเพื่อให้ลูกค่ายได้ผ่อนคลายจากการทำงานในแต่ละวัน โดยมีการเล่นเกม ซึ่งแต่ละวันเกมสุดท้ายจะเป็นเกมเปิดป้ายเพื่อให้แต่ละกลุ่มแต่ละบ้านได้รับ ของรางวัลที่เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารไป โดยแต่ละกลุ่มต้องใช้ความสามัคคีช่วยกันเล่นเกมและช่วยกันเลือกแผ่นป้าย เพื่อรับของรางวัล ช่วงนี้เป็นช่วงที่รอคอยของการเล่นเกมประจำวันเลย ทีเดียว

              กิจกรรมรอบกองไฟ

              จัดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ ๓๑ ธันวาคม มีการแสดงซูลูเปิดพิธีรอบกองไฟ เป็นการแสดงที่เรียกเสียงหัวเราะได้มาก แต่ก็มีส่วนที่น่าประทับใจคือ มีพี่ปีสี่ที่ไปค่ายมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งเป็นการอำลาการเป็นซูลูเพราะกำลังจะจบไปแล้ว ที่สำคัญไม่มีการบังคับแต่เป็นการแสดงที่ปีสี่ทำเองโดยไม่ได้เตรียมกับซูลู จริงๆ แต่ก็สำเร็จไปได้ด้วยดี

              หลังจากนั้นก็ เป็นการแสดงของน้องๆนักเรียนซึ่งสามารถดูได้ในวีดีทัศน์ครับ และต่อด้วยการแสดงของชาวบ้านที่มาร้องเพลงภาษาปกาเกอะญอให้ฟัง และจบด้วยการแสดง ของนักศึกษา

              ขอแทรกเรื่อง วัฒนธรรมของชาวบ้านนิดหนึ่งครับ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใช่ชนเผ่าดั้งเดิม วัฒนธรรมของหมู่บ้านจึงไม่ค่อยมีพิธีกรรมมากเท่ากับของพื้นที่ที่เป็นชนเผ่า ดั้งเดิมซึ่งรักษาไว้ได้ดีกว่า แต่ที่นี่ก็ยังคงมีแนววัฒนธรรมที่ยังผูกพันกับบรรพบุรุษเช่นกัน

              หลังจากนั้นก็เป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับ เด็กในหมู่บ้านโดยให้เด็กมาจับฉลากชื่อพี่ๆ หากได้พี่คนไหนก็พี่คนนั้นก็เอาของขวัญที่เตรียมมามอบให้น้อง ซึ่งก็ได้ครบทุกคน

           

              กิจกรรมเคาท์ดาวน์

              ได้จัดสถานที่เคาท์ดาวน์บริเวณเนินเขาหลัง ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการแลกของขวัญโดยใช้เชือกผูกของขวัญแล้วห้อยกับต้นไม้ เมื่อตัดเชือกแล้วของขวัญจะหล่นลงมาตรงกองฟางที่รองอยู่ แล้วให้เจ้าของมามอบให้ หลังจากนั้นจึงให้คนมอบตัดเชือกต่อ เป็นวิธีแลกที่ได้คิดกันเองในหมู่คนเตรียมค่าย ซึ่งไม่ค่อยมีใครทำกัน หลังจากแลกของขวัญเสร็จก็เป็นการเคาท์ดาวน์กันต่อท่ามกลางแสงจันทร์วันขึ้น สิบห้าค่ำ

              กิจกรรมสอนภาษา ปกาเกอะญอ

              มีการสอนภาษาปกา เกอะญอในเวลาพักตามที่กำหนดไว้ แต่ได้ทำเป็นบางวันเนื่องจากบางวันชาวบ้านที่สอนได้ก็ไม่ว่าง คือบางคนพูดได้แต่ขี้อายไม่กล้าสอน จึงมีบางคนที่สามารถสอนได้ นักศึกษาก็ได้คำศัพท์พื้นฐานไปพูดกัน เช่น สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ผู้หญิง ผู้ชาย ฯลฯ บางคำที่นักศึกษาอยากรู้ก็สามารถถามได้

              การประชุมสรุปงาน

              มีการประชุมสรุปงานประจำวันทุกๆวันหลังจาก การสันทนาการเสร็จเพื่อสรุปปัญหาที่เกิดในแต่ละวัน และเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากลูกค่าย มีการเสนอปัญหาและวิธีแก้ปัญหา หลังจากนั้นได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาในวันต่อไป

              หลังจากประชุมเสร็จก็มีการสวดมนต์ไหว้พระก่อน นอน และแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อเข้านอน

           
กิจกรรม เปิดใจ

              ได้จัดในคืนวัน ที่ ๒ มกราคม ซื่งเป็นคืนสุดท้าย ลูกค่ายทุกคนได้เข้ากิจกรรมนี้บริเวณโบสถ์ประจำหมู่บ้าน สาเหตุที่ใช้โบสถ์ก็เพราะการเปิดใจใช้เวลานาน หากใช้พื้นที่บริเวณสันทนาการจะทำให้น้ำค้างลง ส่งผลต่อสุขภาพชาวค่าย

              การเปิดใจได้ทำให้แต่ละคนได้พูดแสดงความรู้สึก ต่อการมาค่ายครั้งนี้ ทั้งดีและไม่ดีเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และยังเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปปรับ ปรุงต่อไป อีกส่วนหนึ่งยังเป็นการให้กำลังใจ การชื่นชม รวมถึงการเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของทุกคนเกี่ยวกับการมาออกค่ายครั้ง นี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะประทับใจกับการมาค่าย บอกว่าทางไกลและโหดมาก ได้ทำอาหารกินเองซึ่งไม่เคยทำมาก่อนก็มี ได้รู้จักพี่ รู้จักเพื่อน ได้ฝึกการทำงาน ฯลฯ

ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งสุดท้ายไปด้วย

              การถ่ายรูปร่วม กันและพิธีมอบอาคาร

              ได้มอบอาคารและ ถ่ายรูปในวันที่ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันกลับหลังจากที่เก็บของ และสัมภาระเสร็จ และทำความสะอาดพื้นที่ แล้วจึงมีการถ่ายรูปร่วมกัน ทั้งร่วมกับครู และชาวบ้าน ซึ่งมีชาวบ้านเพียงบางคนที่มาถ่ายด้วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ เพราะชาวบ้านค่อนข้างขี้อาย แต่ก็มาดูอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อส่งนักศึกษา

              ในส่วนของกิจกรรมบางกิจกรรมที่ไม่ได้ทำตามแผน สาเหตุก็เพราะความไม่พร้อม และไม่สะดวกบางประการ จึงมีการตกลงของคณะกรรมการว่าไม่ให้มีการจัดกิจกรรมนั้นเพื่อไม่ให้เป็น ปัญหาต่อไป



              กิจกรรมที่สรุปมาทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ได้จัด ทำขึ้นในระยะเวลาของการออกค่าย บางส่วนอาจจะอธิบายได้ยากและไม่ค่อยเข้าใจ ขอให้หลวงพี่ดูในรูปภาพและวีดีทัศน์ประกอบด้วยนะครับ และหากมีข้อสงสัยประการใดก็สามารถติดต่อมาได้ครับ ทั้งทางอีเมลล์ และทางโทรศัพท์ครับ



ปล.ปัจจัยที่หลวงพี่ให้การสนับสนุนได้นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมทั้ง หมดแต่บางส่วนไม่ได้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในตอนแรก และยังมีเหลืออยู่ประมาณ 2500 บาท จึงได้ทำการตกลงกันว่าจะนำไปให้น้องจัดค่ายวันเด็ก และตอนนี้ค่ายวันเด็กก็สำเร็จลุล่วงแล้ว สรุปว่าเงินที่ได้ให้ไปน้องที่จัดเขานำไปซื้อไอศกรีมแจกเด็กครับ


แบบเป็นทางการไปดูได้ที่ลิงก์นี้ http://docs.google.com/Doc?docid=0AZsKgkXi4P2hZGRrZnI1d3NfNjNmendjY2ZoYg&hl=th

ขออนุโมทนากับน้อง ๆ ชาวค่ายทุก ๆ คนครับ ขอให้บุญรักษา พระคุ้มครอง สาธุ

หลวงพี่โอ๊ท

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

มอบทุนค่ายอาสาพัฒนาให้ ค่ายชมรมเกลือและแสงสว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
หลังจากประกาศปิดรับโครงการค่ายอาสาพัฒนาชั่วคราวได้ไม่นาน มีโครงการค่ายที่ส่งมาก่อนแต่พึ่งมาถึงมือ คือโครงการของชมรมเกลือและแสงสว่าง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร รายละเอีดดังนี้

โครงการค่ายชมรมเกลือและแสงสว่าง

อนุมัติและโอนเงินทุนสำหรับทำค่ายไปให้ทั้งสิ้น ๕,๐๐๐.- บาท ( ห้าพันบาทถ้วน ) ตามหลักฐานการโอนเงินนี้


รายละเอียดเพิ่มเติม จะนำมาแจ้งอีกครั้งหนึ่ง

บทความที่ได้รับความนิยม

กลับขึ้นบนสุด