วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปิดรับโครงการค่ายอาสาพัฒนาชั่วคราว

โครงการสายลมแห่งอาสา ปี ๒๕๕๒ นี้ สรุปว่าให้ทุนไปทั้งสิ้น ๒ ค่าย คือค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ๓๐,๐๐๐ บาท และ ค่ายอาสาพัฒนารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ บาท ( ห้าหมื่นบาทถ้วน )

สำหรับปี ๒๕๕๓ คงต้องมีการปรับปรุงระเบียบการขอทุนค่ายอาสา ให้มีความรัดกุมมากขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับชาวบ้านในพื้นที่ออกค่าย และตัวชาวค่ายเอง

ขอเกริ่นให้นิด ๆ ว่า ตั้งใจจะหาทุนให้มากกว่านี้ เพื่อสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดของค่ายที่ขอทุนมา แต่คงเป็นลักษณะการประกวดโครงการค่ายอาสาพัฒนาที่มีการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้วิถีชีวิต ธรรมชาติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปด้วยในตัว

ท่านที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของโครงการได้ทางทวิตเตอร์ของหลวงพี่โอ๊ท http://twitter.com/mahaoath

บุญรักษาครับ
หลวงพี่โอ๊ท

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สายลมแห่งอาสาให้ทุนค่ายสร้างรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐.- บาท


พิจารณาทุนให้ค่ายสร้างรัฐศาสตร์ มช. แล้ว ตกลงให้ทุน เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐.- บาท ( สองหมื่นบาทถ้วน ) ช่วงนี้เน็ตไม่ค่อยเสถียร แล้วจะนำโครงการมาใส่ไว้ในบล็อกอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับความเห็นของเหล่ากัลยาณมิตร



พื้นที่ออกค่ายสร้างรัฐศาสตร์ มช. ศศช.บ้านห้วยทรายเหลือง
โครงการค่ายสร้างรัฐศาสตร์ มช ขุดที่ ๑


ตัวแทนค่ายอาสา รับทุน ๒๐,๐๐๐.- จากหลวงพี่โอ๊ท ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่
หนังสือขอบคุณจากคณะรัฐศาสตร์ ฯ มช.

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ของเล่นสำหรับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
ตามที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการได้ขอความสนับสนุนของเล่น ( ตุ๊กตา ) จำนวน ๒๐๐ ชิ้น จากวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา ผ่านมาทางโครงการสายลมแห่งอาสานั้น

ท่านพระครูพิสุทธิ์บุญสาร เจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล ได้อนุญาตให้มอบของเล่นให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ สำหรับจัดกิจกรรมวันเด็ก เรียบร้อยแล้ว

ของเล่นสำหรับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ผ่านวันเด็กเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ไป คงเหลือของเล่นไม่มากนัก แต่หากหน่วยงานใดสนใจ ติดต่อมาได้ครับ อีเมลมาก่อนก็ได้ mahaoath@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โครงการค่ายนิติอาสาพัฒนาและเผยแพร่กฎหมาย ครั้งที่ ๑๓ คณะนิติศาสตร์ ม.พายัพ


โครงการค่ายนิติอาสาพัฒนาและเผยแพร่กฎหมาย ครั้งที่ ๑๓ ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นโครงการของ สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ,กลุ่มค่ายอาสาพัฒนาสังกัดคณะนิติศาสตร์ ,และชมรมส่งเสริมสุขภาพสังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้บริการประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยซ่อมแซมต่อเติมอาคารเอนกประสงค์ เผยแพร่ความรู้กฎหมายเบื้องต้น ให้บริการตรวจสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน สอนทักษะทางด้านกีฬาให้เยาวชนในหมู่บ้าน ตลอดจนการปลูกป่า และสร้างฝายชลอน้ำ

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้ พื้นที่ทำโครงการคือ โรงเรียนบ้านขุนสาใน ตำบลโป่งสา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีนักเรียนทั้งสิ้น ๑๓๘ คน ครู ๘ คน อาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม ขาดแคลนสาธารณูปโภค โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านขุนสาใน ที่มีประชากร ๖๓๖ คน นับถือศาสนาคริสต์ ๙๐ % นับถือผี ๘ % และนับถือพระพุทธศาสนา ๒ % ส่วนมากประกอบอาชีพทำไร่เป็นหลัก

การออกค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ
  • ต่อเติมอาคารเอนกประสงค์ ขนาด ๖ คูณ ๑๒ เมตร ๑ หลังเพื่อใช้เป็นห้องเรียน
  • ซ่อมแซมอาคารเรียนที่ชำรุด คือ ซ่อมแซมหลังคาที่รั่ว และทาสีใหม่
  • ปรับปรุงห้องน้ำเดิมให้ใช้การได้ โดย ซ่อมแซมประตู และแก้ปัญหาท่อน้ำอุดตัน
  • จัดทำฝายชะลอน้ำ และปลูกป่าฟื้นฟู จำนวน ๓,๐๐๐ ต้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
  • การเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
  • โครงการอาหารกลางวันเพื่อน้อง
  • บริการตรวจสุขภาพของชาวบ้าน
  • เปิดคลีนิกสอนกีฬาแก่เยาวชน
  • บริจาคสิ่งของ สื่อการสอน และหนังสือให้แก่โรงเรียน และชุมชน
  • กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ( มวลชนสัมพันธ์ )
โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๘๙,๗๓๐.- บาท ( แปดหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสามสิบบาทถ้วน ) รายละเอียดโครงการดังปรากฏด้านล่างนี้
โครงการค่ายนิติอาสาพัฒนาและเผยแพร่กฎหมาย


คณะกรรมการกำลังพิจารณาโครงการ และงบประมาณที่จะสนับสนุน สามารถติดตามผลการพิจารณาได้ที่บทความ ( blog entry ) นี้

เพิ่มเติม ๒๖ ธ.ค. ๕๒ โครงการค่ายนี้ถูกยกเลิก เนื่องจากปัญหาบางประการของทางค่าย

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สายลมแห่งอาสาแจกทุนค่ายอาสา ๓๐,๐๐๐.- บาท ให้กับโครงการค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
โครงการค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ เป็นโครงการของนักศึกษาสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน รู้จักเสียสละ แบ่งปัน วางแผนงาน และแก้ปัญหาเป็น

พื้นที่ออกค่ายอาสาในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ คือ โรงเรียนบ้านกกสะตี หมู่ที่ ๕ ตำบลวังยาว อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เปิดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล ๑ - ป.๖ จำนวนนักเรียน ๙๗ คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ห่างไกลความเจริญ ตั้งในถิ่นธุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพดอย่างเดียว

การออกค่ายอาสาครั้งนี้ชาวค่ายจะดำเนินการปรับปรุงโรงอาหารที่ทรุดโทรม ให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง ทนทาน และป้องกันไม่ให้มีสัตว์เข้ามาพลุกพล่านในโรงอาหาร โดยใช้งบประมาณเฉพาะค่าวัสดุ อุปกรณ์ ๑๖,๙๗๐.- บาท ( หนึ่งหมื่นหกพันเก้าร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน )

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับชุมชนเช่น การสันทนาการกับนักเรียน พิธีบายศรีสู่ขวัญ และการแข่งกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ รวมแล้วใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐.- บาท ( สามหมื่นบาทถ้วน ) รายละเอียดปรากฏตามโครงการด้านล่างนี้

ค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์

คณะกรรมการโครงการสายลมแห่งอาสา ได้พิจารณาโครงการค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์แล้ว มีความเห็นว่า
  1. เนื่องจากทุนที่แจกเป็นทุนจากพระภิกษุ ดังนั้นควรมีการบูรณาการด้านศีลธรรมเข้าไปในการออกค่ายครั้งนี้ด้วย
  2. ขาดข้อมูลแหล่งที่มาของทุนอื่น ๆ กรณีที่ไม่ได้รับทุนจากโครงการสายลมแห่งอาสา หรือได้รับไม่เต็มงบประมาณ
  3. ต้องการทราบว่า ชาวค่ายพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ และความรู้สึกที่ได้จากการออกค่ายครั้งนี้หรือไม่
และได้ทำการสอบถามกลับไปยังนักศึกษา จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
  1. การระบุกฎค่ายไว้ชัดเจนว่า ชาวค่ายต้องรักษาศีล ๕ รายละเอียดดูได้จากเอกสารเพิ่มเติมนี้ http://docs.google.com/Doc?docid=0AZsKgkXi4P2hZGRrZnI1d3NfNTNjeHFtcnpkdA&hl=en
  2. แหล่งทุนอื่นได้แก่ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
  3. ชาวค่ายจะรายงานสรุปผล ให้กับโครงการสายลมแห่งปัญญาหลังจากเสร็จกิจกรรมแล้ว
คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว ว่าโครงการนี้สมควรได้รับการสนับสนุนจาก "สายลมแห่งอาสา" จึงขอมอบทุนสนับสนุนโครงการนี้จำนวน ๓๐,๐๐๐.- บาท ( สามหมื่นบาทถ้วน )


หลักฐานการโอนเงินให้โครงการค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์


ขอให้ชาวค่ายทั้งหลายจงช่วยกัน ใช้ทุนสนับสนุนที่ได้รับนี้อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด และเมื่อค่ายเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์ สำเร็จตามความประสงค์แล้ว ขอให้นำประสบการณ์ครั้งนี้มาแบ่งปันให้ผู้อื่นได้อนุโมทนาด้วย ขอเจริญพรให้ชาวค่ายทั้งหลายจงประสบแต่ความสำเร็จสมดังมุ่งมาตรปรารถนาทุกประการเทอญ


เพิ่มเติม ๒๖ ธ.ค. ๕๒ ภาพจากค่ายอาสาเศรษฐศาสตร์ปริทัศน์

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การส่งเอกสารเพื่อขอทุนทำค่ายอาสาพัฒนา พร้อมเงื่อนไขในการขอทุนทำค่ายอาสาพัฒนา 2552


ดูระเบียบการใหม่ล่าสุด




 รายละเอียดด้านล่างนี้เป็นระเบียบเก่า 2552 - 2554 เลิกใช้แล้ว 


รายละเอียดที่ต้องเตรียมในการขอทุนทำค่ายอาสาพัฒนา

1. รายละเอียดของการทำงานในทีมนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่นำเสนอโครงการ
  • รายชื่อผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด ( ไม่จำเป็นต้องเป็นชมรม อาจจะเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ได้ )
  • ชี้แจงวิธีการทำงาน และการแบ่งหน้าที่ของผู้เข้าร่วมค่าย พร้อมค่าใช้จ่ายโดยประมาณ
  • ระยะเวลาในการดำเนินการ ( ตั้งแต่สำรวจพื้นที่จนกระทั่งสรุปงานหลังออกค่ายแล้ว )
2. รายละเอียดของการก่อสร้าง ( กรณีค่ายสร้าง ส่วนค่ายรูปแบบอื่นเช่นค่ายสอน ให้ข้ามไปข้อ 3. เลย )
  • แบบแปลนก่อสร้าง พร้อมงบประมาณ
  • ชื่อ อีเมลแอดเดรส และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ควบคุมการก่อสร้าง ( ควรมีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรม )
3. รายละเอียดของกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการก่อสร้าง
  • ชื่อผู้รับผิดชอบกิจกรรม
  • รูปแบบ วิธีการ วัตถุประสงค์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกรรมแต่ละกิจกรรม
  • ตารางเวลาทำกิจกรรม
4. รายละเอียดของพื้นที่
  • แผนที่เส้นทางการเดินทางโดยละเอียด และถูกต้องตามจริง ( พร้อมระบุระยะทางโดยประมาณ )
  • ภาพถ่ายบริเวณหมู่บ้าน และพื้นที่โครงการทั้งหมด ประวัติของหมู่บ้าน พร้อมจำนวนประชากร
  • หากทำกิจกรรมเฉพาะพื้นที่โรงเรียน หรือวัด ให้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรียน หรือวัดแทนก็ได้
5. รายชื่อ อีเมลแอดเดรส และหมายเลขโทรศัพท์ ( ทั้งมือถือและที่ทำงาน ) ของอาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการ ฯ ( โดยเฉพาะท่านที่จะลงพื้นที่ร่วมกับชาวค่าย )
6. จดหมายรับรองการอนุมัติให้ทำกิจกรรมออกค่ายอาสาฯในครั้งนี้ จากกองกิจการนักศึกษา หรือโรงเรียน
7. จดหมายตอบรับจากพื้นที่ ( ผู้นำชุมชน หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ เจ้าอาวาส )
8. สำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของประธานค่าย
9. ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่จะให้สัมภาษณ์กับคณะกรรมการได้ หากกรรมการต้องการสัมภาษณ์ ( นักเรียน นิสิต นักศึกษา )
10. หนังสือขอรับทุนลงนามโดยประธานค่าย และรับรองโดยอาจารย์ที่ปรึกษา
11. สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีธนาคาร ที่จะให้โอนเงินหากได้รับทุน ต้องเป็นบัญชีในนามชมรม ฯ หรือชื่อโครงการ ฯ หรือบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป และต้องรับรองโดยอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย
*** เอกสารทั้งหมดต้องส่งเป็นเอกสาร ๑ ชุด และสแกนเป็นไฟล์รูปภาพ ( .jpg หรือ .jpeg เท่านั้น ) บรรจุลงในแผ่นซีดีรอม ๑ ชุด ***
หมายเหตุ :
  1. เกณฑ์การตัดสิน หลวงพี่โอ๊ท และกัลยาณมิตร มีผู้มีสิทธิ์ชี้ขาด
  2. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการกระดานดำแล้ว ( แบ่งให้ค่ายอื่นบ้าง ) แต่โครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากโครงการกระดานดำ สามารถใช้เอกสารชุดเดียวกันยื่นขอรับทุนได้
  3. ไม่รับพิจารณาโครงการที่ตั้งขึ้น และดำเนินการโดยครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่สถาบัน เราต้องการโครงการโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษาเท่านั้น
วิธีการส่งเอกสารขอรับทุนทำค่ายอาสาพัฒนา

1. ส่งด้วยตัวเอง หรือส่งทางไปรษณีย์ ( ควรลงทะเบียน ) ได้ที่

พระมหานัธนิติ สุมโน ( หลวงพี่โอ๊ท )
วัดใหญ่ชัยมงคล
40/3 หมู่ที่ 3 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา
จ. พระนครศรีอยุธยา 13000

สำหรับโครงการจากสถาบันในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โปรดมาส่งด้วยตัวเองเท่านั้น
2. ส่งเอกสารก่อนวันออกค่าย 1 - 3 เดือน
*** เอกสารทั้งหมดต้องส่งเป็นเอกสาร ๑ ชุด และสแกนเป็นไฟล์รูปภาพ ( .jpg หรือ .jpeg เท่านั้น ) บรรจุลงในแผ่นซีดีรอม ๑ ชุด ***

การประกาศผล และการรับทุน
  • ประกาศผลทางบล็อก http://fund4volunteer.blogspot.com ( บล็อกนี้ ) และทางอีเมล โดยจะส่งอีเมลถึงประธานค่าย และอาจารย์ที่ปรึกษาค่าย
  • โครงการค่ายที่ได้รับทุน จะได้รับโอนเงินเข้าบัญชีก่อนวันออกค่าย ฯ ไม่น้อยกว่า ๗ วัน
ข้อควรทราบ
  • หลังจากจบโครงการ ผู้ดำเนินโครงการต้องทำรายงานสรุป พร้อมภาพถ่ายกิจกรรมระหว่างทำโครงการ และหลังจากทำเสร็จแล้ว ส่งให้หลวงพี่โอ๊ท อนุญาตให้ส่งทางอีเมล mahaoath@gmail.com ได้
  • ชมรม ฯ กลุ่ม ฯ หรือ โครงการที่ได้รับทุน แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการจนสำเร็จได้ หรือทำสำเร็จแต่ไม่ส่งรายงานสรุปพร้อมภาพถ่ายกิจกรรม จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ทุนในโอกาสต่อไป
  • ช่องทางที่สามารถติดต่อหลวงพี่โอ๊ทได้คือ 1) เขียนเป็นความเห็นไว้ในบล็อกนี้ 2) ที่อยู่ทางไปรษณีย์ตามที่ปรากฏแล้วข้างต้น 3) อีเมล mahaoath@gmail.com 4) เว็บไซต์มหาโอ๊ทดอทคอม http://mahaoath.com และ 5) บล็อกสายลมแห่งปัญญา http://blog.mahaoath.com 6) ทวิตเตอร์ http://twitter.com/mahaoath
  • ทุนที่ได้รับอาจไม่มากมายนัก อาจน้อยกว่าที่ขอมา หรือได้ตามที่ขอ โปรดเข้าใจว่าให้เพื่อเป็นกำลังใจ และต้องการให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้หัดทำงาน ได้ทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อสังคมต่อไป
  • ทุนที่ได้รับ เรียกได้ว่าเป็นทุนที่เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังนั้น ในระหว่างออกค่าย ชาวค่ายควรตั้งตนอยู่ในศีลธรรมอันดี อย่างน้อยคือ รักษาศีล ๕

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แจกทุนค่ายอาสาพัฒนา 5,000 - 30,000 บาท

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
อาตมาได้เตรียมกองทุนไว้สำหรับแจกจ่ายให้กับค่ายอาสาพัฒนา ค่ายพัฒนาชนบท ฯลฯ ไม่จำกัดว่าต้องเป็น "ค่ายสร้าง" เท่านั้น "ค่ายสอน" "ค่ายเสริม" หรือค่ายใด ๆ ก็ตาม ที่เป็นกิจกรรมออกค่ายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น

ไม่จำกัดว่าต้องเป็นค่ายของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ระดับมัธยม หรือ อาชีวศึกษา ก็มีสิทธิ์ขอทุนได้ทั้งสิ้น

เบื้องต้นจะพิจารณาให้ทุน 5,000 - 30,000 บาท ต่อ 1 ค่าย ตามความเหมาะสม มากบ้างน้อยบ้างแบ่ง ๆ กันไป หรือถ้าโครงการถูกใจคณะกรรมการ ( ประกอบด้วยอาตมาเอง และเหล่ากัลยาณมิตร ) อาจจะได้มากกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย

ความเป็นมาของการให้ทุน แจกทุน ทำค่ายอาสาพัฒนา

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนาย้อนกลับไปในอดีตราว ๆ ๑๘ ปีก่อนหน้านี้ มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยความใฝ่ฝันที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของค่ายอาสาพัฒนาชนบท เช่นเดียวกับที่ได้ฟังพ่อเล่าประสบการณ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการโดยเฉพาะความตื่นเต้นจากการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมในคณะมากมายเสียจนลืมความใฝ่ฝันนั้นไปสิ้น

เวลาล่วงไปอย่างไม่รีรอ ๔ ปีผ่านไป เด็กหนุ่มไม่ได้ทำตามความฝันนั้นสักครั้งเดียว และที่แย่กว่านั้นคือ เขาลืมความฝันนั้นไป เหมือนกับไม่เคยมีอยู่ ชีวิตการทำงาน การท่องเที่ยว การหาความสนุกสนานใส่ตัว ทำให้เด็กหนุ่มที่เริ่มเติบโตขึ้น ไม่ได้เหลียวแลความฝันของเขาอีกเลย

เหมือนที่ใคร ๆ ชอบกล่าวว่าชะตาเล่นตลก ชายหนุ่มได้ละจากสิ่งต่าง ๆ ที่เคยคุ้น หันหน้าเข้าสู่เพศบรรพชิต เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ และได้พานพบกับกัลยาณมิตร ที่ได้จุดประกายความฝันในครั้งยังเยาว์วัยให้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง

บ้านโตแฮ บ้านปู่คำ บ้านปู่คำน้อย และอีกหลาย ๆ หมู่บ้านในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจุดเริ่มต้น แววตาของเด็ก ๆ วิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือแม่กระทั่งความเป็นอยู่ของครูที่โรงเรียน ต.ช.ด. ที่ได้ไปเห็นที่ได้สัมผัส ช่างตราติดตรึงอยู่ในใจเหลือเกิน


การให้ทุน แจกทุน ทำค่ายอาสาพัฒนา นี้ก็เพื่อทดแทนความฝันที่หายไป คล้าย ๆ กับจะขอแรงให้ "ชาวค่าย" ได้ช่วย ทำในสิ่งที่อาตมาไม่เคยได้ทำ ช่วยเติมเต็มความฝันในวัยเด็กให้อาตมาด้วย

อย่ารีรอ ถ้าค่ายใด กลุ่มใด คณะใด ใครมีโครงการทำค่ายอาสาพัฒนา ไม่ว่าค่ายสร้าง ค่ายสอน หรือค่ายรูปแบบไหน ๆ และต้องการทุน โปรดบอกมา แล้วอาตมา และกัลยาณมิตรจะพิจารณาให้ตามหลักเกณฑ์

บุญรักษา

หลวงพี่โอ๊ท

จิตอาสา

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
จิตอาสา (Spiritual Volunteer) หมายถึง การให้และอาสาช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันของคนในสังคม เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาช้านานคู่กับสังคมมนุษย์ตั้งแต่ครั้งอดีต เพื่อ ช่วยทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในท่ามกลางความขาดแคลนอาหารและ สิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ ทั้งในภาวะปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แนวคิดเกี่ยวกับความดี
พลังน้ำใจ หรือ จิตอาสา เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มีอยู่ในทุกคนและเป็นจุดที่สำคัญ เพราะมนุษย์มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจทุกคน ถ้าเรารดน้ำพรวนดินหรืออากาศเหมาะ สิ่งแวดล้อมเหมาะ เหตุปัจจัยเหมาะ มันจะออกมาได้เยอะมาก ดังบทประพันธ์ของรัชกาลที่ 6
“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฝากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน เป็นสิ่งดีสองชั้นอันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้สร้างสมถวิล เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น”

พลังที่ว่า คือ พลังจิตอาสา เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ทำให้เห็นสิ่งดีสามารถนำมาใช้แก้ปัญหา เมื่อทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ทำให้เห็นความหวังแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของบุคคลได้

ในความคิดของสังคมไทยโดยทั่วไป มีกรอบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เราคิดถึงเรื่องความดีว่า คือ การทำบุญ การให้ทาน การปล่อยนกปล่อยปลา การถวายเงินสร้างวัดหรือถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์ การแสดงความนบนอบบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การอุปถัมภ์ค้ำชูกัน การตอบแทนบุญคุณผู้อุปถัมภ์ การให้เงินให้ทองกัน การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านต่างๆ การปฏิบัติตามหน้าที่และกฎระเบียบอย่างถูกต้อง กระทั่งการอยู่เฉยๆไม่รบกวนใครก็นับว่าดีแล้ว หรือบางคนอาจมีความคิดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อย่างไรก็ตาม กรอบวิธีคิดและปฏิบัติเรื่องความดีอย่างเดิมไม่พอเพียงที่จะเยียวยารักษาสังคมไทยให้อยู่เป็นปกติสุขได้ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีปัญหาใหญ่ๆในสังคมไทยปัจจุบันเกิดขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม สังคมไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบและวิธีคิดเสียใหม่ ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า
“เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้”
ท่านพุทธทาสมองเห็นวิกฤติการณ์ปัจจุบันนานมากแล้ว ดังที่ท่านพร่ำสอนว่า
“ศีลธรรมไม่กลับคืนมา โลกาวินาศ”
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสและพระราชนิพนธ์
“ใครจะว่าเชยก็ช่างเขา ขอให้เราพออยู่พอกิน และมีมิตรไมตรีจิตต่อกัน”

“สังคมไทยอยู่ได้เพราะมีการให้”

ส่วน ศ.นพ.ประเวศ วสี ได้เสนอว่า
“สังคมไทยต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่”

โดยใช้รหัสพัฒนาใหม่ คือ GCK (Goodness -Community/Culture - Knowledge) หรือ ความดี - การอยู่ร่วมกัน - ความรู้ เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งน่าจะมาแทนกระบวนทัศน์ที่ว่า KPM (Knowledge - Power - Money) หรือ ความรู้ - อำนาจ - เงิน ซึ่งเป็นกระแสหลักในปัจจุบันของอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม สังคมจึงถูกพาไปให้ตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” ส่งผลให้คนที่เก่งกว่า คนที่แข็งแรงกว่า คนที่อยู่ในฐานะที่ดีกว่า แย่งชิงเอาเปรียบคนจน

ความคิดเช่นนี้เองผลักดันไปให้ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้รวย เช่น ทำลายสิ่งแวดล้อม ค้ากำไรเกินควร ละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดสิทธิสตรี ทำลายวัฒนธรรม ส่งเสริมอบายมุข ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ฉ้อฉลคอร์รัปชั่น ฯลฯ นำไปสู่ความตกต่ำทางศีลธรรม

แทนที่จะตั้งคำถามใหม่ว่า “ความดีคืออะไร” ซึ่งมีคำตอบที่ทุกคนพอจะเข้าใจได้ คือ ความขยันหมั่นเพียร พึ่งตนเอง ความประหยัด ความออม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจ และไมตรีจิตต่อกัน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วัฒนธรรม การพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น การเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงความดี แต่ในโครงสร้างสังคมไทย ยังฝังใจอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเศรษฐกิจแบบตะวันตกได้เข้ามาสร้างวิธีมอง วิธีคิด และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงอาชีพของผู้คนจำนวนมากด้วย ถูกสร้างแน่นหนาเช่นนี้ รื้อไม่ได้ด้วยวิธีการแบบกลไก แต่ต้องเริ่มต้นที่จิตสำนึก เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ตั้งคำถามใหม่ หากตั้งคำถามใหม่ว่า “ความดีคืออะไร” แทนที่คำถามเก่าว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จะเกิดจิตสำนึกใหม่ การตั้งคำถามว่าความดีคืออะไรซ้ำๆอยู่ทุกวี่ทุกวัน ความรู้สึกนึกคิดก็จะเปลี่ยนไป แล้วจะไปปรับวิถีชีวิต ปรับการศึกษา ปรับความสัมพันธ์ ซึ่งโน้มนำไปสู่วิถีแห่งความดีมากขึ้นเรื่อยๆ

ในระบบการศึกษาของเราปัจจุบัน ทั้งหมดก็สอนเรื่องการรู้วิชา ทั้งนี้มิได้หมายความว่าความรู้ไม่สำคัญ ความรู้มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ตัวนำ เราเห็นแล้วว่า ความรู้ไม่มีพลังพอที่จะต้านอำนาจของกิเลส ตกเป็นเหยื่อของกิเลสได้ง่าย ถูกจับไปเป็นเครื่องมือของอำนาจและเงิน เกิดรหัสพัฒนา KPM หรือ ความรู้ - อำนาจ – เงิน พันกันเป็นเกลียวแน่น ดังจะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาของเราเกือบไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการอยู่ ร่วมกันของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม มุ่งแต่ผลิตคนให้รัฐ (อำนาจ) และภาคพาณิชยกรรมอุตสาหกรรม (เงิน) เท่านั้น

การพัฒนาสมัยใหม่ ระบบการค้าเสรีมุ่งส่งเสริมการบริโภค ทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติ ที่เข้ามาตั้งศูนย์การค้า ซึ่งอำนวยความสะดวกสบาย แต่ก็ทำลายวิถีชีวิตชุมชนลง ไม่มีอะไรจะทานได้เลย นอกจากชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง คือ วิถีชีวิตชุมชนร่วมกัน (Community) หรือชีวิตวัฒนธรรม (Culture) หรือ ตัว “C” จึงเข้ามาอยู่ในรหัสพัฒนาใหม่ที่เรียกว่า GCK ความรู้ (K) เป็นตัวตามมา ถ้าเรียงรหัส GC คือ ความดี – การอยู่ร่วมกัน ได้แล้ว ความรู้ตามมา อันเป็นไปเพื่อความดีและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งยิ่งมากยิ่งดี ความรู้ในตัวคนที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน นั่นคือความรู้เชิงวัฒนธรรม ความรู้ในตำรามีฐานอยู่ในการวิจัยค้นคว้าหรือวิทยาศาสตร์ ความรู้ในตัวคนนั้นทุกคนมี แต่ความรู้ในตำรานั้นน้อยคนมี ถ้าเอาความรู้ในตัวคนเป็นตัวตั้ง จะเชื่อมโยงกับฐานทางวัฒนธรรมและคนทุกคนจะกลายเป็น คนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความมั่นใจในตนเอง แล้วเอาความรู้ในตำรามาเป็นตัวต่อยอด ตบแต่ง แต่ระบบการศึกษาของเราเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง และทิ้งความรู้ในตัวคนไปเลย ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน ฉากทัศน์ของสังคมจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในความรู้สมัยใหม่ทุกสาขาวิชา แต่ในฐานะเอามารับใช้ความดีและการอยู่ร่วมกัน ความดีที่ใช้ในที่นี้เป็นเรื่องเดียวกับปัญญา ซึ่งหมายถึงรู้ทั้งหมด รู้ถูกต้อง และเข้าถึงความดี ในปัญญาจึงมีศีลธรรมและจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ ความรู้เมื่อตามหลังความดีและการอยู่ร่วมกันก็กลายเป็นปัญญา

กระบวนทัศน์ใหม่ที่นำเสนอนี้ คือ ความดี – การอยู่ร่วมกัน – ความรู้ เชื่อว่าจะเยียวยาสังคมได้ดีกว่าความคิดในกรอบเดิม

ที่มา http://gotoknow.org/blog/corporationsocialresponsibility/180455

ทุน

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
ทุนในทางทฤษฎี
ในเศรษฐศาสตร์ ทุนหมายถึงปัจจัยในการผลิตที่ใช้ในกาสร้างเศรษฐทรัพย์หรือบริการอื่นๆ ที่มนุษย์เป็นผู้ผลิตและไม่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เศรษฐทรัพย์และบริการนั้นๆจะต้องไม่ใช่ตัวทุนนั้นๆเอง แม้ว่าทุนนั้นๆสามารถที่จะเสื่อมราคาลงได้ สินค้าประเภททุนสามารถรับมาได้โดยใช้เงินหรือเงินทุน ในการเงินและการบัญชี คำว่าทุนหมายถึงความมั่งคั่ง โดยเฉพาะความมั่งคั่งที่ใช้ในการเปิดกิจการ
ทุนในทางปฏิบัติ
ในเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยในการผลิตสาม (หรือสี่ ตามการรวมรวบข้อมูล) ปัจจัย ปัจจัยอื่นๆรวมไปถึงที่ดิน แรงงาน และองค์กร ผู้ประกอบการ หรือการบริหารจัดการในบางหลักสูตร เศรษฐทรัพย์ที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้เป็นทุน:
  • สามารถนำไปผลิตเศรษทรัพย์ (สินค้า) อื่นๆได้ (อยู่ในรูปของปัจจัยในการผลิต)
  • ถูกสร้างขึ้นมาอีกทีหนึ่งโดยแตกต่างจาก "ที่ดิน" ที่ซึ่งหมายถึงปัจจัยในการผลิตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นพื้นที่ทาง ภูมิศาสตร์และทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่นแร่ธาตุ
  • ไม่ได้ถูกใช้ในการผลิตเป็นหลักโดยสัมบูรณ์ซึ่งทำให้แตกต่างจากสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (ยกเว้นค่าเสื่อมราคา)
ความหมายนี้ถูกนำมาใช้กับเศรษฐศาสตร์คลาสิกสมัยใหม่โดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในการวิเคราะห์ทางการในระยะยาว มีการแก้คำกำกวมโดยบอกว่าทุนเป็นหลักทรัพย์ชนิดหนึ่ง
กาอธิบายก่อนหน้านี้ได้ชี้แจงว่าทุนเป็นรายการ (item)ทางกายภาพที่สามารถจับต้องได้ แต่ในระยะหลังมีการพยายามทีจะกำหนดความหมายของทุนใหม่ ตัวอย่างเช่น การลงทุนในการศึกษาและการพัฒนาฝีมือก็ถือเป็นการสร้างทุนมนุษย์หรือทุนความรู้ และนอกจากนี้การลงทุนเพื่อสร้างสมบัติทางปัญญหาคือการสร้างทุนทางปัญญาเช่นกันซึ่งยังมีการถกเถียงกันอยู่มากพอควร
ทฤษฎีการพัฒนามนุษย์อธิบายว่าทุนมนุษย์ยังรวมไปถึงปัจจัยทางด้านสังคมและความคิดสร้างสรรค์:
  • ทุนทางสังคมเป็นคุณค่าในการเชื่อถือกันระหว่างบุคคลหรือองค์กรซึ่งอยู่ในเศรษกิจ
  • ทุนเฉพาะบุคคลเกิดขึ้นจากตัวคนเอง ปกป้องโดยสังคม และแลกเปลี่ยนแรงงานเพื่อเงินหรือความเชื่อใจ
การจำแนกชนิดที่นำไปใช้ทางทฤษฏีและประยุกต์อื่นๆรวมไปถึง:
  • ทุนทางบัญชีซึ่งคือพันธกิจต่างๆ
  • ทุนธรรมชาติซึ่งคือความพยายามของชุมชนเพื่อพัฒนาธรรมชาติ
  • ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็น ระบบสนับสนุนที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติซึ่งอาจจะรวมไปถึงเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ถนน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ความต้องการของความน่าเชื่อถือทางสังคม การฝึกฝน และทรัพยากรทางธรรมชาติน้อยลงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

อาสาพัฒนา

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
อาสาพัฒนา เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่รวมกลุ่มกันและมีจุดหมายในการออกไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยในประเทศไทยนิยมจัดขึ้นเป็นชมรมตามมหาวิทยาลัย ขณะที่ในหลายประเทศจะมีการรวมตัวกันในหลายระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน ระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา ซึ่งกิจกรรมอาสาพัฒนาในต่างประเทศนั้นรวมไปถึง การทำความสะอาดชุมชน การสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารให้ชุมชน การเป็นอาสาสมัครให้ห้องสมุดประจำชุมชน การสอนเด็กและการดูแลผู้สูงอายุในถิ่นธุรกันดาร

ในประเทศไทยค่ายอาสาพัฒนาจะมีกิจกรรมคล้ายกันจะมีลักษณะคล้าย สังคมสงเคราะห์ (Comudity Services) ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งที่ถาวรและไม่ถาวร การเผยแผ่อบรมให้ความรู้ด้านในต่างๆ การมอบสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัยสี่ให้กับชุมชนในชนบทที่ขาดแคลน โดยเรียกว่า การออกค่ายอาสาพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นเอกเทศในการจัดกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์โดยไม่ ขึ้นตรงหรือพึ่งพากับองค์กรใดๆ โดยมีความมุ่งหวังที่จะจัดกิจกรรมด้านอาสาพัฒนาออกไปสู่สังคมภายนอกมากขึ้น เพื่อพัฒนาบทบาทของนิสิตต่อการรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะชุมชนชนบทที่ห่าง ไกล และโดยพื้นฐานของการเป็นสถาบันการศึกษาของท้องถิ่น ทำให้กลุ่มผู้ก่อตั้งและผู้สานต่อเจตนารมณ์ในยุคต่อมาได้ให้ความสำคัญกับ แนวคิดในระยะเริ่มแรก และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรรมมาจนถึงทุกวันนี้

ในสหรัฐอเมริกา งานอาสาพัฒนาในระดับมหาวิทยาลัย มักจะจัดทำโดยกลุ่มที่รวมตัวกันภายใต้ แฟรตเทอร์นิตี(fraternity ) และ ซอรอริตี(sorority) โดยแฟรตเทอร์นิตีที่รู้จักกันดีในด้านอาสาพัฒนานี้คือ อัลฟา ฟี โอเมก้า (ΑΦΩ)(Alpha Phi Omega)

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/อาสาพัฒนา

บทความที่ได้รับความนิยม

กลับขึ้นบนสุด