วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จิตอาสา

คลิ๊กดูรายละเอียดการขอทุนค่ายอาสาพัฒนา
จิตอาสา (Spiritual Volunteer) หมายถึง การให้และอาสาช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันของคนในสังคม เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาช้านานคู่กับสังคมมนุษย์ตั้งแต่ครั้งอดีต เพื่อ ช่วยทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในท่ามกลางความขาดแคลนอาหารและ สิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ ทั้งในภาวะปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แนวคิดเกี่ยวกับความดี
พลังน้ำใจ หรือ จิตอาสา เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มีอยู่ในทุกคนและเป็นจุดที่สำคัญ เพราะมนุษย์มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจทุกคน ถ้าเรารดน้ำพรวนดินหรืออากาศเหมาะ สิ่งแวดล้อมเหมาะ เหตุปัจจัยเหมาะ มันจะออกมาได้เยอะมาก ดังบทประพันธ์ของรัชกาลที่ 6
“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฝากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน เป็นสิ่งดีสองชั้นอันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้สร้างสมถวิล เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น”

พลังที่ว่า คือ พลังจิตอาสา เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ทำให้เห็นสิ่งดีสามารถนำมาใช้แก้ปัญหา เมื่อทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ทำให้เห็นความหวังแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของบุคคลได้

ในความคิดของสังคมไทยโดยทั่วไป มีกรอบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เราคิดถึงเรื่องความดีว่า คือ การทำบุญ การให้ทาน การปล่อยนกปล่อยปลา การถวายเงินสร้างวัดหรือถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์ การแสดงความนบนอบบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การอุปถัมภ์ค้ำชูกัน การตอบแทนบุญคุณผู้อุปถัมภ์ การให้เงินให้ทองกัน การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านต่างๆ การปฏิบัติตามหน้าที่และกฎระเบียบอย่างถูกต้อง กระทั่งการอยู่เฉยๆไม่รบกวนใครก็นับว่าดีแล้ว หรือบางคนอาจมีความคิดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อย่างไรก็ตาม กรอบวิธีคิดและปฏิบัติเรื่องความดีอย่างเดิมไม่พอเพียงที่จะเยียวยารักษาสังคมไทยให้อยู่เป็นปกติสุขได้ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีปัญหาใหญ่ๆในสังคมไทยปัจจุบันเกิดขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม สังคมไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบและวิธีคิดเสียใหม่ ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า
“เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้”
ท่านพุทธทาสมองเห็นวิกฤติการณ์ปัจจุบันนานมากแล้ว ดังที่ท่านพร่ำสอนว่า
“ศีลธรรมไม่กลับคืนมา โลกาวินาศ”
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสและพระราชนิพนธ์
“ใครจะว่าเชยก็ช่างเขา ขอให้เราพออยู่พอกิน และมีมิตรไมตรีจิตต่อกัน”

“สังคมไทยอยู่ได้เพราะมีการให้”

ส่วน ศ.นพ.ประเวศ วสี ได้เสนอว่า
“สังคมไทยต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่”

โดยใช้รหัสพัฒนาใหม่ คือ GCK (Goodness -Community/Culture - Knowledge) หรือ ความดี - การอยู่ร่วมกัน - ความรู้ เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งน่าจะมาแทนกระบวนทัศน์ที่ว่า KPM (Knowledge - Power - Money) หรือ ความรู้ - อำนาจ - เงิน ซึ่งเป็นกระแสหลักในปัจจุบันของอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม สังคมจึงถูกพาไปให้ตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” ส่งผลให้คนที่เก่งกว่า คนที่แข็งแรงกว่า คนที่อยู่ในฐานะที่ดีกว่า แย่งชิงเอาเปรียบคนจน

ความคิดเช่นนี้เองผลักดันไปให้ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้รวย เช่น ทำลายสิ่งแวดล้อม ค้ากำไรเกินควร ละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดสิทธิสตรี ทำลายวัฒนธรรม ส่งเสริมอบายมุข ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ฉ้อฉลคอร์รัปชั่น ฯลฯ นำไปสู่ความตกต่ำทางศีลธรรม

แทนที่จะตั้งคำถามใหม่ว่า “ความดีคืออะไร” ซึ่งมีคำตอบที่ทุกคนพอจะเข้าใจได้ คือ ความขยันหมั่นเพียร พึ่งตนเอง ความประหยัด ความออม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจ และไมตรีจิตต่อกัน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วัฒนธรรม การพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น การเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงความดี แต่ในโครงสร้างสังคมไทย ยังฝังใจอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเศรษฐกิจแบบตะวันตกได้เข้ามาสร้างวิธีมอง วิธีคิด และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงอาชีพของผู้คนจำนวนมากด้วย ถูกสร้างแน่นหนาเช่นนี้ รื้อไม่ได้ด้วยวิธีการแบบกลไก แต่ต้องเริ่มต้นที่จิตสำนึก เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ตั้งคำถามใหม่ หากตั้งคำถามใหม่ว่า “ความดีคืออะไร” แทนที่คำถามเก่าว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จะเกิดจิตสำนึกใหม่ การตั้งคำถามว่าความดีคืออะไรซ้ำๆอยู่ทุกวี่ทุกวัน ความรู้สึกนึกคิดก็จะเปลี่ยนไป แล้วจะไปปรับวิถีชีวิต ปรับการศึกษา ปรับความสัมพันธ์ ซึ่งโน้มนำไปสู่วิถีแห่งความดีมากขึ้นเรื่อยๆ

ในระบบการศึกษาของเราปัจจุบัน ทั้งหมดก็สอนเรื่องการรู้วิชา ทั้งนี้มิได้หมายความว่าความรู้ไม่สำคัญ ความรู้มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ตัวนำ เราเห็นแล้วว่า ความรู้ไม่มีพลังพอที่จะต้านอำนาจของกิเลส ตกเป็นเหยื่อของกิเลสได้ง่าย ถูกจับไปเป็นเครื่องมือของอำนาจและเงิน เกิดรหัสพัฒนา KPM หรือ ความรู้ - อำนาจ – เงิน พันกันเป็นเกลียวแน่น ดังจะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาของเราเกือบไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการอยู่ ร่วมกันของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม มุ่งแต่ผลิตคนให้รัฐ (อำนาจ) และภาคพาณิชยกรรมอุตสาหกรรม (เงิน) เท่านั้น

การพัฒนาสมัยใหม่ ระบบการค้าเสรีมุ่งส่งเสริมการบริโภค ทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติ ที่เข้ามาตั้งศูนย์การค้า ซึ่งอำนวยความสะดวกสบาย แต่ก็ทำลายวิถีชีวิตชุมชนลง ไม่มีอะไรจะทานได้เลย นอกจากชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง คือ วิถีชีวิตชุมชนร่วมกัน (Community) หรือชีวิตวัฒนธรรม (Culture) หรือ ตัว “C” จึงเข้ามาอยู่ในรหัสพัฒนาใหม่ที่เรียกว่า GCK ความรู้ (K) เป็นตัวตามมา ถ้าเรียงรหัส GC คือ ความดี – การอยู่ร่วมกัน ได้แล้ว ความรู้ตามมา อันเป็นไปเพื่อความดีและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งยิ่งมากยิ่งดี ความรู้ในตัวคนที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน นั่นคือความรู้เชิงวัฒนธรรม ความรู้ในตำรามีฐานอยู่ในการวิจัยค้นคว้าหรือวิทยาศาสตร์ ความรู้ในตัวคนนั้นทุกคนมี แต่ความรู้ในตำรานั้นน้อยคนมี ถ้าเอาความรู้ในตัวคนเป็นตัวตั้ง จะเชื่อมโยงกับฐานทางวัฒนธรรมและคนทุกคนจะกลายเป็น คนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความมั่นใจในตนเอง แล้วเอาความรู้ในตำรามาเป็นตัวต่อยอด ตบแต่ง แต่ระบบการศึกษาของเราเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง และทิ้งความรู้ในตัวคนไปเลย ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน ฉากทัศน์ของสังคมจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในความรู้สมัยใหม่ทุกสาขาวิชา แต่ในฐานะเอามารับใช้ความดีและการอยู่ร่วมกัน ความดีที่ใช้ในที่นี้เป็นเรื่องเดียวกับปัญญา ซึ่งหมายถึงรู้ทั้งหมด รู้ถูกต้อง และเข้าถึงความดี ในปัญญาจึงมีศีลธรรมและจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ ความรู้เมื่อตามหลังความดีและการอยู่ร่วมกันก็กลายเป็นปัญญา

กระบวนทัศน์ใหม่ที่นำเสนอนี้ คือ ความดี – การอยู่ร่วมกัน – ความรู้ เชื่อว่าจะเยียวยาสังคมได้ดีกว่าความคิดในกรอบเดิม

ที่มา http://gotoknow.org/blog/corporationsocialresponsibility/180455

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

กลับขึ้นบนสุด