วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตรียมการจัดอบรมให้นักกิจกรรมจาก มรภ.พระนครศรีอยุธยา

วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการทำโครงการสายลมแห่งอาสานี้ คือต้องการให้นักกิจกรรม และชาวค่ายได้เรียนรู้ในเรื่องของการจัดการโครงการ ตั้งแต่การคิด การเขียน การนำเสนอ การดำเนินการ การบริหาร และการประเมินผลโครงการ ซึ่งต่อไปในอนาคตเมื่อเรียนจบกันแล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงานไม่ว่าเป็นงานราชการ เอกชน หรืองานส่วนตัว

หลังจากที่คุยกับคณบดี และรองกิจฯ ของ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาในเรื่องดังกล่าวได้ไม่กี่วัน อ.ดร.สุภัทรา รองกิจฯ ได้นิมนต์ให้ช่วยออกแบบกิจกรรมสำหรับเสริมศักยภาพของนักศึกษาที่เป็นกรรมการสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ได้รับประโยชน์ใน ๓ ด้านด้วยกัน ได้แก่

  • การจัดการโครงการ
  • จิตอาสา
  • ภาวะความเป็นผู้นำ
ด้วยความช่วยเหลือจากกัลยาณมิตรคนสำคัญ คือ อ.ดร.มนตรา  เลี่ยวเส็ง จากสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ทำให้กิจกรรมนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายในเวลา ๑ คืนเท่านั้น

กิจกรรมนี้ถูกออกแบบให้แบ่งออกเป็น ๓ ช่วงคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ตามหลักของการศึกษาทางพระพุทธศาสนา โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมทั้งสิ้น ๘ วัน

วันแรก ช่วงเช้าให้นักศึกษาได้สำรวจพื้นที่ในอาณาเขต ๒๐๐ ไร่ของวัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อเป็นข้อมูล จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการบรรยาย ( ปริยัติ ) ในหัวข้อการจัดการโครงการ โดย อ.ดร.มนตรา และการบรรยายเรื่องจิตอาสาพร้อมกับแนะนำกิจกรรมจากพระมหาโอ๊ท

วันที่ ๒ ถึงวันที่ ๖ ของกิจกรรม ( ปฏิบัติ ) เป็นระยะเวลาให้นักศึกษา ๒๕ คน แบ่งกลุ่มกัน ๕ กลุ่ม แยกย้ายกันไปคิด เขียน และเตรียมการนำเสนอโครงการที่จะทำในพื้นที่วัดใหญ่ชัยมงคล ตามเงื่อนไขคือ

  • ประหยัด
  • ประโยชน์
  • ยั่งยืน
  • ชื่นใจ
วันที่ ๗ ของกิจกรรม ( ปฏิบัติ ) ช่วงเช้าเป็นเวลานำเสนอโครงการของนักศึกษาแต่ละกลุ่ม โดยมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้แนะนำและตัดสินโครงการที่จะได้รับเลือก ๓ จาก ๕ โครงการ โดยกรรมการอาจจะประกอบด้วย

  • อ.ดร.สุภัทรา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มรภ.พระนครศรีอยุธยา
  • พระมหาโอ๊ท วัดใหญ่ชัยมงคล
  • อ.ดร.มนตรา  เลี่ยวเส็ง ผู้เชี่ยวชาญาการจัดการโครงการ
  • ผอ.จุฑามาศ  รอดภัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี)
  • ครูดวงใจ  สุภาพึ่ง วิทยาลัยเทคนิกพระนครศรีอยุธยา ,สถาบันกรุงเก่าเพื่อการพัฒนา
  • ตัวแทนจากภาคเอกชน ( NGO )
  • ตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน
ช่วงบ่ายเป็นต้นไปเป็นเวลาให้ปฏิบัติโครงการ โดยผู้ที่ได้ทำโครงการต้องเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ตลอดจนอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิกพระนครศรีอยุธยา และนักเรียนจากโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคลเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการของตนให้ได้

วันสุดท้ายของกิจกรรม ช่วงเช้าปฏิบัติโครงการของตนต่อ ช่วงบ่าย ( ปฏิเวธ ) ให้ประเมินผลการดำเนินโครงการของตนเอง และของเพื่อนๆ จากนั้นกรรมการจะประเมินโครงการทั้งหมด เสร็จแล้วจัดให้มีการสะท้อนความรู้จากการร่วมกิจกรรม และการปฏิบัติโครงการของตนเอง ก่อนที่จะมีการประกาศผลการประเมินโครงการ และมอบของรางวัลให้โครงการที่ชนะเลิศ

ภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดมีเท่านี้ แล้วจะรายงานความคืบหน้าอีกครั้ง

บุญรักษา

บทความที่ได้รับความนิยม

กลับขึ้นบนสุด